พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สัตตุ - สัตว์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สัตตุ - สัตว์

สัตตุ ข้าวคั่วผง,ขนมผง ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่น ขนมที่เรียกว่า จันอับและขนมปัง เป็นต้น

สัตตุผง สัตตุก้อน ข้าวตู เสบียงเดินทางที่สองพ่อค้า คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ถวายแด่พระพุทธ เจ้าขณะที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ

สัตถะ เกวียน, ต่าง, หมู่เกวียน, หมู่พ่อค้าเกวียน

สัตถกรรม การผ่าตัด

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ, ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครูและทรงทำหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี คือทรงพร่ำสอนด้วยมหากรุณาหวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง, ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ, ทรงรู้จริงและปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม ทรงทำกับตรัสเหมือนกัน ไม่ใช่ตรัสสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง, ทรงฉลาดในวิธีสอน, และทรงเป็นผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน (ข้อ ๗ ในพุทธคุณ ๙)

สัตถุศาสน์, สัตถุสาสน์ คำสั่งสอนของพระศาสดา หมายถึงพระพุทธพจน์ ดู นวังคสัตถุศาสน์

สัตบุรุษ คนสงบ, คนดี, คนมีศีลธรรม,คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม

สัตมวาร วันที่ ๗, วันที่ครบ ๗ ; เขียนเต็มรูปเป็น สัตตมวาร

สัตย์ ความจริง,ความซื่อตรง,ความจริงใจ

สัตยาธิษฐาน การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจแน่วแน่มุ่งต่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการอ้างความจริงเป็นหลักประกัน

สัตว์ “ผู้ติดข้องในรูปารมณ์เป็นต้น”, สิ่งที่มีความรู้สึกและเคลื่อนไหวไปได้เอง รวมตลอดทั้งเทพ มาร พรหม มนุษย์ เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ในบาลีเพ่งเอามนุษย์ก่อนอย่างอื่น, ไทยมักเพ่งเอาดิรัจฉาน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย