พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สุรเสนะ - เสขะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สุรเสนะ - เสขะ

สุรเสนะ ชื่อแคว้นหนึ่งในมัชฌิมชนบทในชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นกุรุในระหว่างแม่น้ำสินธูกับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง นครหลวงชื่อมถุรา

สุรา เหล้า, น้ำเมาที่กลั่นแล้ว

สุราบาน การดื่มเหล้า, น้ำเหล้า

สุราปานวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องดื่ม น้ำเมา เป็นต้น เป็นวรรคที่ ๖ ในปาจิตติยกัณฑ์

สุรามฤต น้ำที่ทำผู้ดื่มให้ไม่ตายของเทวดา, น้ำอมฤตของเทวดา

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (ข้อที่ ๕ ในศีล ๕
ศีล ๘ และศีล ๑๐)

สุริยคติ การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระอาทิตย์เป็นหลัก เช่นวันที่ ๑-๒-๓ เดือนเมษายน เป็นต้น

สุริยุปราคา การจับอาทิตย์ คือเงาดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์

สุวรรณภูมิ “แผ่นดินทอง”, “แหลมทอง”, ดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระโสณะและพระอุตตระ หัวหน้าพระศาสนทูตสายที่แปด (ใน ๙ สาย) ไปประกาศพระศาสนา ปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่าได้แก่ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม (พม่าว่าได้แก่เมืองสะเทิมในประเทศพม่า)

สู ท่าน

สูญ ว่างเปล่า, หายสิ้นไป

สูตร พระธรรมเทศนาหรือธรรมกถาเรื่องหนึ่งๆ ในพระสุตตันตปิฎก แสดงเจือด้วยบุคคลาธิษฐาน, ถ้าพูดว่าพระสูตร มักหมายถึงพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด

สูปะ แกง

เสกขสมมต ผู้ได้รับสมมติเป็นเสขะ หมายถึงครอบครัวที่สงฆ์ประชุมตกลงแต่งตั้งให้เป็นเสขะ ภิกษุใดไม่เจ็บไข้และเขาไม่ได้นิมนต์ไว้ ไปรับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ต้องอาบัติเป็นปาฏิเทสนียะสิกขาบทที่ ๓

เสขะ ผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล โดยพิสดารมี ๗ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ในโสดาปัตติผล ในสกทาคามิมรรค ในสกทาคามิผล ในอนาคามิมรรค ในอนาคามิผล และในอรหัตตมรรค, พูดเอาแต่ระดับเป็น ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย