ในสมัยหนึ่ง
พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี
ทรงปรารภความพยายามเพื่อปลงพระชนม์พระองค์ของพระเทวทัต
ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาวานรตัวหนึ่ง มีรูปร่างขนาดเท่าลูกม้า
มีพละกำลังมาก อาศัยอยู่ในชายป่าแห่งหนึ่ง
เที่ยวหากินอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้นานาชนิด
พญาวานรจะกระโจนจากฝั่งแม่น้ำข้างนี้ไปพักที่แผ่นหินกลางน้ำ
แล้วกระโจนจากแผ่นหินไปขึ้นบนเกาะนั้นในเวลาเช้า
เที่ยวหากินผลไม้ต่างๆ ในเกาะนั้นในเวลากลางวัน
แล้วจะกระโดดกลับทำนองเดียวกันในเวลาเย็น
โดยลักษณะเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน
ในแม่น้ำนั้น
มีจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ได้มองเห็นลิงนั้นกระโดดข้ามไปมาทุกเช้าเย็น
ในเช้าวันหนึ่ง จระเข้ผู้เมียเกิดแพ้ท้องต้องการกินหัวใจของลิง
จึงพูดกับสามีว่า
" พี่ ฉันแพ้ท้องต้องการกินหัวใจของลิงตัวนั้น
พี่จงหามาให้ฉันหน่อยนะ "
จระเข้ผู้สามีกล่าวว่า
"
ได้จ้า ที่รัก เดี๋ยวพี่จะคอยจับมันที่มาจากเกาะในเย็นวันนี้
"
ฝ่ายพญาวานรเที่ยวหากินบนเกาะนั้นทั้งวัน
ครั้นถึงเวลาเย็นก็มายืนอยู่ที่ชายฝั่งที่เคยกระโดดข้ามทุกวัน
มองเห็นความผิดปกติของแผ่นหินกลางน้ำแล้วคิดว่า
"
วันนี้ ทำไมแผ่นหินจึงสูงกว่าเดิม ปริมาณน้ำก็ยังเท่าเดิม
เห็นทีจะมีสัตว์อะไรมานอนบนแผ่นหินนั่นกระมัง
"
จึงทำเป็นเรียกแผ่นหินว่า
"
หิน หิน "
ก็ไม่ได้รับคำตอบ
จึงพูดเปรยๆขึ้นว่า
"
หิน ทำไมวันนี้ ท่านจึงไม่ขานรับข้าพเจ้าละ"
ฝ่ายจระเข้ที่นอนอยู่บนแผ่นหิน
ได้ฟังเช่นนั้นคิดหลงกลว่า
"
ในวันอื่นๆ แผ่นหินนี้ คงให้คำตอบแก่ลิงเป็นแน่
"
จึงขานรับออกไปว่า
"
อะไร ท่านลิง"
พญาวานร
" ท่านเป็นใคร
? "
จระเข้
"
เราเป็นจระเข้"
พญาวานร
" ท่านมานอนอยู่ที่นี่ทำไม
? "
จระเข้
" เพื่อต้องการหัวใจของท่าน"
พญาวานร
" ท่านต้องการไปทำไม
? "
จระเข้
" เมียเราแพ้ท้อง
ต้องการกินหัวใจของท่าน "
พญาวานรคิดว่า
" เราไม่มีทางอื่น
นอกจากจะลวงจระเข้ตัวนี้ " จึงพูดว่า
" จระเข้สหายรัก
เราตกลงสละร่างกายให้ท่านแล้วละ เพื่อเห็นแก่ลูกน้อยของท่าน
ท่านจงอ้าปากไว้ เราจะกระโจนเข้าปากของท่านเอง
"
หลักความจริงมีอยู่ว่าเมื่อจระเข้อ้าปาก
ตาทั้ง ๒ ข้างก็จะหลับ จระเข้ไม่ทันคิดถึงเหตุนี้
จึงอ้าปากคอย พญาวานรจึงกระโดดเหยียบหัวจระเข้กระโดดข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างรวดเร็ว
จระเข้พอคิดได้ว่าหลงกลพญาวานรก็สายเสียแล้ว
จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
"
พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ
ธรรมะ ธิติ และจาคะ
เช่นกับท่าน
ผู้นั้น ย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้ "
|