หน้าแรก นิทานชาดก คามณิจันทชาดก
พระราชกุมารผู้อัจฉริยะ


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภการสรรเสริญปัญญาพระองค์ของพวกภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชกุมารของพระเจ้าชนสันธะ ผู้ครองเมืองพาราณสี มีหน้าตาสดใสงดงามมากจึงถูกขนานนามว่าอาทาสมุขกุมาร พอมีอายุได้ ๗ ขวบเท่านั้นพระชนกก็สวรรคต พวกอำมาตย์เห็นว่าพระกุมารยังไม่อยู่ในฐานะจะครองเมืองได้ จึงจะทดสอบภูมิปัญญาของพระกุมารดู ในวันหนึ่ง ได้ตกแต่งพระนครใหม่ จัดตั้งสถานวินิจฉัย( ศาล )เสร็จแล้ว ได้มอบให้พระกุมารขึ้นตัดสินคดีความ พอพระกุมารประทับบนบัลลังก์แล้วก็ให้เอาลิงตัวหนึ่งซึ่งสามารถเดิน ๒ เท้าได้แต่งตัวเป็นอาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ แล้วถวายรายงานพระราชกุมารว่า " ขอเดชะ นี่คืออาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ สมัยของพระชนก ขอพระองค์จงสงเคราะห์ชายผู้นี้ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้วยเถิด"

     พระราชกุมารแลดูผู้นั้นแล้วทราบว่าเป็นลิงมิใช่มนุษย์จึงตรัสว่า
      " สัตว์ตัวนี้ไม่ฉลาดทำบ้านเรือน หลุกหลิก หนังหน้าย่น รู้แต่จะทำลายสิ่งที่เขาทำไว้แล้วเท่านั้น จะให้เป็นที่ปรึกษาไม่ได้ "
      พวกอำมาตย์รับคำแล้วนำลิงนั้นกลับไป อีกสองวันต่อมาก็นำลิงตัวนั้นมาถวายรายงานอีกว่า
     " ขอเดชะ นี่คืออำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี สมัยพระชนก ขอพระองค์โปรดแต่งตั้งไว้เป็นที่ปรึกษาเถิด "

     พระราชกุมาร แลดูก็ทราบว่ามนุษย์ไม่มีขนมากขนาดนี้ จึงตรัสว่า
      "สัตว์ที่มีความคิด ขนไม่มากขนาดนี้ ลิงตัวนี้ไม่มีความคิด ไม่รู้จักเหตุผล ทำการวินิจฉัยคดีไม่ได้หรอก "
     พวกอำมาตย์รับคำแล้วก็นำลิงนั้นกลับไป อีกสองวันถัดมาก็นำลิงตัวนั้นมาถวายรายงานอีกว่า
     "ขอเดชะ ชายผู้นี้ในสมัยพระชนก ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดาเป็นชายกตัญญู ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์เขาด้วยเถิด "
     พระราชกุมาร แลดูลิงนั้นแล้วตรัสว่า
     " สัตว์เช่นนี้จะเลี้ยงดูบิดามารดาไม่ได้ มีจิตใจกลับกลอก บิดาเราสอนไว้อย่างนี้ "
     พวกอำมาตย์ทราบว่าพระกุมารเป็นบัณฑิตแล้วจึงอภิเษกให้ขึ้นครองราชตั้งแต่บัดนั้น ความอัจฉริยะของพระราชกุมาร ๑๔ เรื่องจึงเกิดขึ้น คือ

     ในสมัยนั้น มีชายแก่คนหนึ่งชื่อคามณิจันท์เคยเป็นทาสรับใช้ของพระเจ้าชนสันธะ เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชนสันธะแล้วได้ปลีกตัวออกไปประกอบอาชีพกสิกรรมอยู่บ้านนอกหมู่บ้านหนึ่ง แต่เขาไม่มีโคทำนา เมื่อฝนตกในฤดูทำนาจึงไปยืมโค ๒ ตัวจากเพื่อนบ้านมาไถนาทั้งวัน ตกเย็นได้นำโคไปคืนเจ้าของที่บ้าน เห็นเจ้าของโคกำลังนั่งกินข้าวอยู่กลางบ้าน เกรงว่าเขาจะชวนกินข้าวด้วย นายคามณิจันท์จึงปล่อยแต่โคเข้าไปในคอก ส่วนตัวเองเดินกลับบ้านไป ตกกลางคืนมีโจรมาลักโคเหล่านั้นไปหมด เจ้าของโคถึงแม้รู้อยู่ว่าโคถูกขโมยไป ก็ไปทวงโคกับนายคามณีจันท์พร้อมกับปรับสินไหมนำไปแจ้งความที่เมืองหลวง

     ในขณะเดินทางไปเมืองหลวง นายคามณิจันท์หิวข้าวจึงขอแวะบ้านเพื่อนที่หมู่บ้านหนึ่งก่อน ปรากฏว่าเพื่อนไม่อยู่บ้าน อยู่แต่ภรรยาที่ท้องได้ ๗ เดือน นางดีใจที่นายคามณิจันท์มาเยี่ยม แต่ข้าวสุกไม่มี จึงต้องขึ้นไปเอาข้าวที่ฉาง นางได้พลัดตกลงมาที่พื้นดินทำให้นางแท้งลูก พอสามีกลับมาถึงบ้านทราบเรื่องจึงตั้งข้อหานายคามณิจันท์ฆ่าลูก ชายทั้ง ๓ คนจึงต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงด้วยกัน

     เมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนเลี้ยงม้าคนหนึ่งกำลังต้อนม้าให้กลับบ้าน มีม้าตัวหนึ่งพยศไม่ยอมไป เขาจึงร้องบอกให้นายคามณิจันท์เอาอะไรขวางม้าให้กลับเข้าบ้านที นายคามณิจันท์เอาก้อนหินขว้างไปถูกขาม้าหัก คนเลี้ยงม้าจึงตั้งข้อหาเขาทำให้ขาม้าหัก เป็นเหตุชายทั้ง ๔ คนต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงไปด้วยกัน

     ในขณะเดินทาง นายคามณิจันท์คิดน้อยใจอยู่คนเดียวว่า " ช่างโชคร้ายนักเรา เมื่อถึงเมืองหลวง เงินสักบาทจะจ่ายค่าโคก็ไม่มี อีกทั้งค่าลูก ค่าม้า ขอตายเสียดีกว่า " ในระหว่างทางต้องเดินผ่านภูเขามีผาชันลูกหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจกระโดดลงในเหวไปตาย แต่บังเอิญมี ๒ พ่อลูกนั่งสานเสื่อลำแพนอยู่ที่เชิงเขานั้น นายคามณิจันท์จึงตกลงไปทับช่างสานผู้พ่อเสียชีวิตส่วนตัวเขารอดชีวิต เป็นเหตุให้ลูกชายช่างสานตั้งข้อหาฆ่าพ่อของเขา ชายทั้ง ๕ คนจึงเดินทางเข้าเมืองหลวงไปด้วยกัน

     ในระหว่างทาง มีทั้งคนและสัตว์ได้ฝากสาส์นกับนายคามณิจันท์ไปถวายพระราชาอีก ๑๐ เรื่อง เมื่อถึงเมืองหลวงแล้ว วันนั้นพระราชกุมารขึ้นประทับบัลลังก์ตัดสินคดีเอง พอเห็นหน้านายคามณิจันท์ก็จำได้ จึงตรัสถามว่า
     " ลุงคามณิจันท์ ท่านไปอยู่ที่ไหนมา "
     นายคามณีจันท์กราบทูลว่า " ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระองค์ไปอยู่บ้านนอกทำกสิกรรมพระเจ้าข้า จึงได้เกิดคดีโคกับท่านนี้ขึ้น"

     พระราชกุมารจึงไตร่สวนจนทราบความแล้วตรัสถามเจ้าของโคว่า " เมื่อโคเข้าบ้าน ท่านเห็นหรือไม่ "
     เจ้าของโคทูลว่า
     " ไม่เห็น พระเจ้าข้า "
     พระองค์จึงตรัสถามย้ำอีกว่า " ไม่เห็นแน่นะ "
     เขาจึงทูลใหม่ว่า " เห็นอยู่พระเจ้าข้า "
     พระองค์จึงตัดสินคดีว่า " ลุงคามณิจันท์ เพราะท่านไม่เอ่ยปากมอบโคแก่เจ้าของ จึงปรับสินไหมท่าน ๒๔ กหาปณะ แต่ชายคนนี้พูดมุสา ทั้งที่เห็นอยู่กลับบอกว่าไม่เห็น ท่านจงควักนัยน์ตาของพวกเขาสองผัวเมียเสีย "
     ชายเจ้าของโครีบกรูเข้าไปหมอบลงแทบเท้านายคามณิจันท์พูดว่า
      " ท่านลุง เงินค่าโคขอยกให้ท่านก็แล้วกัน และเงินเหล่านี้ขอมอบให้ท่านอีก ขออย่าได้ควักนัยน์ตาของพวกข้าพเจ้าเลย " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป

     คดีที่ ๒ พระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า " เมื่อนายคามณิจันท์ไม่ได้ฆ่าลูกของท่าน ท่านจะทำอย่างไรละ"
      ชายคนนั้นจึงทูลว่า " ข้าพระองค์ต้องการลูกคืนเท่านั้นแหละ พระเจ้าข้า " พระองค์จึงตัดสินคดีว่า "ถ้าเช่นนั้น ลุงคามณิจันท์จงนำภรรยาของเขาไปอยู่ด้วย เมื่อมีลูกแล้วค่อยคืนเขาไปก็แล้วกัน"
     ชายคนนั้นก็หมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์อ้อนวอนว่า
      " ท่านลุง…อย่าได้ทำลายครอบครัวผมเลยนะครับ " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป

     คดีที่ ๓ พระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า
      " ท่านเป็นคนบอกให้นายคามณิจันท์ขว้างม้าใช่หรือไม่ "
      ครั้งแรกเขาบอกปฏิเสธเมื่อพระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สองจึงทูลความจริง พระองค์จึงตัดสินคดีว่า " ชายคนนี้พูดมุสา ลุงคามณิจันท์จงตัดลิ้นของเขาเสีย แล้วจ่ายค่าขาม้าเขาไป ๑,๐๐๐ กหาปณะ"
     ชายเจ้าของม้าหมอบลงแทบเท้านายคามณิจันณ์ขอชีวิตพร้อมมอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป

     คดีที่ ๔ เมื่อพระราชกุมารทราบเรื่องแล้วตรัสถามว่า
      " เมื่อเขาตกลงมาทับบิดาของท่านตายโดยไม่เจตนาเช่นนี้ ท่านจะให้ทำอย่างไรละ "
      ลูกชายช่างสานจึงทูลว่า "ข้าพระองค์ขอเพียงบิดาคืนมาเท่านั้น พระเจ้าข้า "
      พระองค์จึงตัดสินคดีว่า " ลุงคามณิจันท์ เมื่อเขาต้องการบิดาของเขาคืน คนตายไปแล้วย่อมฟื้นคืนมาไม่ได้ ท่านจงรับมารดาของเขามาเป็นภรรยาก็แล้วกัน "
      บุตรช่างสานจึงหมอบลงแทบเท้าของนายคามณิจันท์อ้อนวอนว่า
      " ท่านลุง…อย่าได้ทำลายครอบครัวผมเลยนะครับ " มอบเงินให้แล้วก็กลับบ้านไป

      นายคามณิจันท์ชนะคดีความจึงมีความยินดีเบิกบานใจกราบทูลว่า " ขอเดชะ ยังมีสาส์นฝากมาถวายพระองค์อีก ๑๐ เรื่อง พระเจ้าข้า " พระราชกุมารจึงรับสั่งให้บอกสาส์นนั้นมาทีละเรื่อง

     สาส์นที่ ๑ นายบ้านส่วยคนหนึ่งทูลถามว่า " เดิมทีเขาเป็นคนรูปงาม มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน แต่บัดนี้เป็นคนทุกข์ยาก ซูบผอมเป็นโรค เป็นเพราะเหตุไร พระเจ้าข้า "
     พระราชกุมารตรัสว่า " นายบ้านส่วยคนนั้นเดิมเป็นคนมีศีลธรรม ตัดสินคดีโดยธรรม จึงเป็นที่รักของทุกคน เขาจึงมีทรัพย์สมบัติมาก ต่อมาเขาเห็นแก่สินบน ตัดสินคดีโดยไม่เป็นธรรม จึงเป็นคนทุกข์ยากเข็ญใจ มีโรคภัยเบียดเบียน บอกให้เขากลับมาเป็นคนมีศีลธรรมอีก เขาก็จะเป็นคนมั่งมีเหมือนเดิม "

      สาส์นที่ ๒ หญิงคณิกานางหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนได้ค่าจ้างมาก แต่มาบัดนี้ไม่ได้แม้แต่หมากพลูมวนเดียว ไม่มีใครมาเที่ยวเลยเป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนนางรับค่าจ้างจากชายคนหนึ่งแล้วจะไม่รับจากคนอื่นอีก (เป็นไปตามลำดับ) นางจึงมีค่าจ้างมาก บัดนี้นางรับค่าจ้างจากคนแรกแล้วกลับไปนอนกับคนหลัง ค่าจ้างจึงไม่ค่อยจะมี ถ้านางกลับไปปฏิบัติตามเดิมไม่เห็นแก่ได้ นางก็จะเป็นคนมีค่าจ้างเหมือนเดิม "

     สาส์นที่ ๓ หญิงสาวนางหนึ่งทูลถามว่า " นางไม่สามารถอยู่ในบ้านของสามีและบิดามารดาได้ เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " ในระหว่างบ้านของสามีและบิดามารดาของสาวนางนั้น มีบ้านของชายคนรักของเธออยู่หลังหนึ่ง เธอจึงไม่สามารถอยู่ในบ้านสามีได้ บอกสามีว่าจะกลับไปเยี่ยมบิดามารดาก็แอบไปอยู่บ้านชายชู้ ๒-๓ วัน ไปบ้านบิดามารดาก็บอกว่าจะไปบ้านสามี แล้วก็แอบอยู่บ้านชายชู้ ๒-๓ วัน ท่านลุงคามณิจันท์จงบอกให้เธอทราบว่า พระราชกำหนดกฎหมายมีอยู่ ถ้าเธอไม่อยู่ที่บ้านสามีอีกชีวิตเธอก็จะไม่มีเช่นกัน "

     สาส์นที่ ๔ งูตัวหนึ่งอยู่ที่จอมปลวกใกล้ทางใหญ่ทูลถามว่า "ในเวลาออกหากินร่างกายผอมกลับคับปล่องทางออกจะออกจากจอมปลวกยากลำบาก เมื่อกินอิ่มแล้วร่างกายอ้วนพีกลับเข้าปล่องง่าย ร่างกายไม่กระทบแม้กระทั่งข้างปล่องเลย เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " ภายใต้จอมปลวกมีขุมทรัพย์หม้อใหญ่ฝังอยู่ งูนั้นเฝ้าหม้อทรัพย์นั้นอยู่ จึงทำให้ร่างกายหย่อนติดนั่นติดนี่เวลาออกจึงยากลำบาก เมื่อกินอิ่มแล้วไม่ติดขัดรีบเข้าไปโดยเร็วเพราะติดอยู่ในทรัพย์ ท่านลุงคามณิจันท์จงไปขุดเอาทรัพย์นั่นเสียเถอะ "

      สาส์นที่ ๕ เนื้อตัวหนึ่งทูลถามว่า " ข้าพเจ้าไม่อาจไปกินหญ้าที่อื่นได้ กินอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งเดียวเท่านั้น เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า "ที่ต้นไม้นั้นมีรวงผึ้งใหญ่ เนื้อตัวนั้นติดอยู่ในหญ้าที่เปื้อนน้ำผึ้ง จึงไม่ไปไหน ท่านลุงคามณิจันท์ จงไปนำน้ำผึ้งนั้นมาให้เรา ที่เหลือยกให้ท่าน"

     สาสน์ที่ ๖ นกกระทาตัวหนึ่งทูลถามว่า " ข้าพเจ้าจับอยู่ที่จอมปลวกเท่านั้นจึงอยู่ได้สบาย อยู่ที่อื่นไม่ได้เลย เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " นกกระทาจับที่จอมปลวกจึงขันอย่างอิ่มเอิบใจ และภายใต้จอมปลวกนั้น มีหม้อขุมทรัพย์ ท่านลุงคามณิจันท์จงไปขุดเอาหม้อขุมทรัพย์นั้นเถิด "

     สาส์นที่ ๗ รุกขเทวดาตนหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนเคยได้ลาภสักการะมาก บัดนี้ไม่ได้แม้แต่ใบไม้อ่อนกำมือหนึ่ง เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนรุกขเทวดานั้น รักษาพวกมนุษย์ผู้เดินทางไปในดง จึงได้เครื่องสักการะที่เขาทำพลีกรรม บัดนี้ไม่ได้รักษา พวกมนุษย์จึงไม่ได้ทำพลีกรรม ถ้ากลับไปรักษาพวกมนุษย์อีก ก็จะได้ลาภสักการะเหมือนเดิม"

     สาส์นที่ ๘ พญานาคตัวหนึ่งทูลถามว่า " เมื่อก่อนน้ำในสระใสสะอาดมีสีเหมือนแก้วมณี บัดนี้กลับขุ่นมัวมีแหนปกคลุม เป็นเพราะเหตุไร"
     พระราชกุมารตรัสว่า " พญานาคทะเลาะกัน น้ำจึงขุ่นมัว ถ้าพญานาคกลับมาสมานสามัคคีกัน น้ำในสระก็จะใสสะอาดเหมือนเดิม"

     สาส์นที่ ๙ พวกดาบสที่อยู่ใกล้เมืองนี้ทูลถามว่า " เมื่อก่อนผลไม้ในอารามอร่อยมาก บัดนี้กลับมาเฝื่อนฝาดไม่อร่อย เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า " เมื่อก่อนพวกดาบสพากันปฏิบัติสมณธรรม เป็นผู้ขวานขวายในการบริกรรมกสิณ บัดนี้พากันละทิ้งไม่ปฏิบัติธรรมประกอบในกิจที่ไม่ควรทำ ให้ผลไม้ที่เกิดในอารามแก่พวกโยมอุปัฎฐาก เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ เพราะเหตุนี้ผลไม้ของพวกดาบสจึงไม่อร่อย ถ้าพวกดาบสพากันปฏิบัติธรรมเหมือนเดิม ผลไม้ก็จะอร่อยเหมือนเดิม "

     สาส์นที่ ๑๐ พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งที่ศาลาใกล้ประตูเมืองทูลถามว่า " เมื่อก่อนเรียนหนังสือท่องจำได้ดี แต่บัดนี้เรียนเท่าไหร่ก็ไม่จำ เป็นเพราะเหตุไร "
     พระราชกุมารตรัสว่า "เมื่อก่อนมีไก่ขันบอกเวลา พวกพราหมณ์หนุ่มจึงเรียนได้จำดี แต่บัดนี้ไก่ขันไม่เป็นเวลา จึงทำให้พวกเขาเรียนหนังสือไม่ได้ และจำไม่ได้"

      พระราชกุมารครั้นพยากรณ์ปัญหาหมดแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์มากมายและบ้านให้นายคามณิจันท์ เขาได้เดินทางกลับไปส่งสาส์นตามที่พระราชาประทานแก่คนเหล่านั้น และทำตามคำแนะนำของพระราชาทุกประการ


 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
แข่งเรือแข่งพายแข่งกันได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งกันไม่ได้ เป็นเรื่องของบุญกุศลที่เคยทำมาก่อน ใครทำไว้มากย่อมได้มากตามยถากรรม

* เรื่องที่ ๗ ในสังกัปปวรรค หน้า ๕๑ - ๗๑ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๔

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)
[ เปิดอ่าน ครั้ง ]
Share |

  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์