ค้นหาในเว็บไซต์ :

มิลินทปัญหา ตอนที่ ๑๑

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๗


 ปัญหาที่ ๑ ถาม สติเกิดแต่อาการเท่าไร

      (เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ดูก่อนพระนาคเสน สติความระลึกหรือความจำ เกิดแต่อาการเท่าไร"
     พระนาคเสนทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร เกิดแต่อาการ ๑๗ อย่างคือ
          (๑) เกิดแต่ความรู้ยิ่ง ดังผู้รู้ประวัติการณ์ที่ล่วง ๆ มาแล้ว ความรู้นั้นย่อมเป็นแนวให้ระลึกถึงเหตุการณ์แต่หลังได้
          (๒) เกิดแต่การที่ได้กระทำเครื่องหมายไว้
          (๓) เกิดแต่การได้ขยับฐานะสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้นึก ให้จำกิจการที่ตนได้กระทำมาแต่หลัง
          (๔) เกิดแต่การได้รับความสุข ซึ่งชวนให้สาวเอากิจการที่ล่วงแล้วมานึก มาคิด เพื่อไต่สวนหาเหตุ
          (๕) เกิดแต่การได้รับความทุกข์ ซึ่งชวนให้หวนไปนึกถึงเหตุแห่งความทุกข์นั้น ๆ
          (๖) เกิดแต่การได้รู้เห็นสิ่งที่คล้ายกัน ซึ่งเป็นการเตือนให้จำอีกสิ่งหนึ่งได้
          (๗) เกิดแต่การรู้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น เห็นสีขาว ทำให้นึกถึงสีดำได้
          (๘) เกิดแต่การได้รับคำเตือน
          (๙) เกิดแต่รู้เห็นตำหนิ หรือลักษณะทรวดทรง
          (๑๐) เกิดแต่นึกขึ้นได้โดยลำพัง
          (๑๑) เกิดแต่การพินิจพิเคราะห์
          (๑๒) เกิดแต่การนับจำนวนไว้
          (๑๓) เกิดแต่การทรงจำไว้ได้ตามธรรมดา
          (๑๔) เกิดแต่การอบรม เช่นผู้ที่กระทำใจได้แน่วแน่ ในเมื่อกระทำกิจการ สามารถรวบรวมกำลังใจมาคิด มานึก เฉพาะในกิจการอย่างนั้น แม้ว่ากิจการนั้น จะได้ผ่านหูผ่านตามานานแล้ว เมื่อมานึกมาคิดขึ้นในภายหลัง ก็ยังคงจำได้ระลึกได้
          (๑๕) เกิดแต่การได้จดได้เขียนไว้
          (๑๖) เกิดแต่การเก็บไว้
          (๑๗) เกิดแต่การเคยพบ เคยเห็น"
    "มากอย่าง"


 ปัญหาที่ ๒ ถามว่า ผู้ที่ทำบาปมาตั้ง ๑๐๐ ปี ถ้าเวลาจะตาย ทำจิตให้ผ่องใสได้ก็ไปสุคคติ จะไปได้จริงหรือ

     (เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     "ดูก่อนพระนาคเสน คำที่เธอว่าผู้ที่ทำบาปกรรมเรื่อยมาแม้ตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ถ้าเวลาจะตาย มีสติระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมนำไปเกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแม้แต่ครั้งเดียวก็ย่อมไปเกิดในนรกนั้น ดูไม่สมเหตุผล ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นด้วย"
     พระนาคเสนทูลตอบว่า
     "ขอถวายพระพร ศิลาแม้ก้อนเล็กโดยลำพังจะลอยน้ำได้หรือไม่"
     " ไม่ได้ "
     " ก็ถ้าศิลาตั้ง ๑๐๐ เล่มเกวียน แต่อยู่ในเรือ ศิลานั้นจะลอยน้ำได้หรือไม่ "
     " ก็ได้สิเธอ "
     " ขอถวายพระพร เปรียบบุญกุศลเหมือนเรือ บาปกรรมเหมือนศิลา อันคนที่กระทำบาปอยู่เสมอจนตลอดชีวิต ถ้าเวลาจะตาย มิได้ปล่อยจิตใจให้ตามระทมถึงบาปที่ตัวทำมาแต่หลังนั้น สามารถประคองใจไว้ในแนวแห่งกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจทำใจให้แน่วอยู่เฉพาะแต่ในพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าตายลงในขณะแห่งจิตดวงนั้น ก็เป็นอันหวังได้ว่าไปสู่สุคติ ประหนึ่งศิลา ซึ่งมีเรือทานน้ำหนักไว้ มิให้จมลงฉะนั้น ส่วนผู้ที่กระทำบาปที่สุดแต่ครั้งเดียว ถ้าเวลาใกล้จะดับจิต เพียงแต่จิตหวนไปพัวพันถึงกิริยาอาการที่ตัวกระทำบาปกรรมไว้เท่านั้น จิตดวงนั้นก็เป็นหนักพอที่จะถ่วงตัวไปให้เกิดในนรก ซึ่งเหมือนศิลาที่เราโยนลงไปในน้ำ แม้จะก้อนเล็กก็คงจมเช่นเดียวกัน "
     " สมเหตุสมผลละ "


 ปัญหาที่ ๓ ถามว่า จะเพียรดับทุกข์ที่ยังไม่มาถึงจะได้หรือไม่

     (เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
" ดูก่อนพระนาคเสน เธอพยายามฝึกฝนตน ด้วยมีประสงค์จะละทุกข์ที่ล่วงมาแล้วกระนั้นหรือ? "
พระนาคเสนทูลตอบว่า
" ขอถวายพระพร หามิได้ "
" หรือจะละทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง "
" หามิได้ "
" ถ้าเช่นนั้น ก็จะละทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้ "
" จะว่าเฉพาะทุกข์ในบัดนี้ก็ไม่ใช่ "
" ถ้าว่าอย่างนั้น เธอกระทำความพยายามทำไม "
" ขอถวายพระพร อาตมภาพพยายามด้วยหวังว่า จะดับทุกข์ที่มีอยู่ และจะมิให้ทุกข์อื่นซึ่งยังมาไม่ถึงเกิดขึ้น "
" ทุกข์ที่ยังมาไม่ถึงนั้น จะพยายามไม่ให้มีขึ้นได้หรือเธอ "
" ขอถวายพระพร ได้ "
" เธอฉลาดมาก พยายามจะละทุกข์ที่ยังมีมาไม่ถึงก็ได้ "
" ขอถวายพระพร พระองค์เคยถูกราชศัตรูยกพลมาเพื่อจะชิงเอาพระนครบ้างหรือไม่ "
" เคยถูกอยู่บ้าง "
" ในทันทีนั้น พระองค์ตรัสสั่งให้ลงมือขุดคู สร้างป้อมปราการ และฝึกหัดทหารซ้อมเพลงอาวุธ กระนั้นหรือ "
" หามิได้ กิจการเหล่านั้นต้องจัดทำเตรียมไว้ก่อน "
" นั่นพระองค์มีพระประสงค์อย่างไร จึงต้องทำเตรียมล่วงหน้าไว้เล่า "
" ประสงค์ว่า เมื่อเกิดสงครามขึ้น จะได้ทำการต่อสู้ข้าศึกได้ทันท่วงที มิฉะนั้น ถึงเวลาสงครามก็จะหาโอกาสจัดทำได้ยาก ที่สุดก็จะต้องพ่ายแพ้ข้าศึก และการที่เตรียมจัดทำไว้ในเวลาปกติย่อมทำได้ดี ทั้งเป็นที่เกรงขามของข้าศึกที่ยังมีมาไม่ถึงได้ด้วย "
" ขอถวายพระพร ข้าศึกที่ยังมีมาไม่ถึงก็มีด้วยหรือ "
" มีสิเธอ "
" เหตุผลที่พระองค์ตรัสถามเบื้องต้นก็มีเช่นนี้แล การที่อาตมภาพเพียรฝึกฝนกาย วาจา ใจ ไว้ให้อยู่ในความควบคุมของจิตที่อบรมดีแล้ว ก็เพื่อปราบทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้ และเพื่อไว้ต่อสู้ หรือป้องกันทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง เช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นช่องทางที่จะให้ความทุกข์เข้ามาผจญใจได้ เมื่อกำลังใจมีไม่พอที่จะต้านทาน ก็ต้องยอมเป็นเชลยแห่งความทุกข์เรื่อยไป เป็นอันหาโอกาสที่จะทำเช่นนี้ได้อีกยาก เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงต้องพยายามฝึกฝนตนไว้ก่อน "
" เธอว่านี้ชอบแล้ว "

 ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความไกลแห่งพรหมโลก

      “ ข้าแต่พระนาคเสน พรหมโลกไกลจากโลกนี้สักเท่าไร ?”
     “ ขอถวายพระพร พรหมโลกไกลจากโลกนี้มาก ถ้ามีผู้ทิ้งก้อนศิลาโตเท่าปราสาทลงมาจากพรหมโลก ก้อนศิลานั้นจะตกลงมาได้วันละ ๔๘,๐๐๐ โยชน์ ต้องตกลงมาถึง ๔ เดือน จึงจะถึงพื้นดิน ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ผู้มีอำนาจทางจิต หายวับจากชมพูทวีปนี้ ขึ้นไปปรากฏในพรหมโลกได้เร็วพลัน เหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลังคู้แขนเหยียดแขนฉะนั้นดังนี้ โยมไม่เชื่อ เพราะถึงเร็วอย่างนั้น ก็จักไปได้เพียงหลายร้อยโยชน์เท่านั้น”
     “ ขอถวายพระพร ชาติภูมิ ( ถิ้นกำเนิด ) ของมหาบพิตรอยู่ที่ไหน? ”
     “ อยู่ที่เกาะอลสัณฑะ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร เกาะอลสัณฑะไกลจากที่นี้สักเท่าไร ?”
     “ ไกลประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ในที่นั้น แล้วเคยนึกถึงมีอยู่หรือ ? ”
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรนึกไปถึงทีไกลประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ได้โดยเร็วพลันไม่ใช่หรือ ? ”
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”


 ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความไปเกิดในพรหมโลกและเมืองกัสมิระ

    “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามีคน ๒ คนตายจากที่นี้แล้วไปเกิดในที่ต่างกัน คือคนหนึ่งขึ้นไปเกิดในพรหมโลก อีกคนหนึ่งเกิดในเมืองกัสมิระ คนสองคนนี้ คนไหนจะไปช้าไปเร็วกว่ากัน ? ”
     “ ขอถวายพระพร เท่ากัน ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร ชาติภูมิของมหาบพิตรอยู่ที่ไหน ? ”
     “ อยู่กาลสิรคาม ”
     “ ขอถวายพระพร กาลสิรคามอยู่ไกลจากที่นี้สักเท่าไร? ”
     “ ประมาณ ๒๐๐ โยชน์ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เมืองกัสมิระไกลจากที่นี้สักเท่าไร ? ”
     “ ประมาณ ๑๒ โยชน์ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เชิญมหาบพิตรนึกถึงกาลสิรคามดูซิ ”
     “ โยมนึกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เชิญมหาบพิตรนึกถึงเมืองกัสมิระดูซิ ”
     “ โยมนึกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ทางไหนนึกถึงช้าเร็วกว่ากันอย่างไร ?” 
     “ เท่ากัน พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ที่ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก กับผู้ที่ไปเกิดในเมืองกัสมิระ เร็วเท่ากัน ไปถึงพร้อมกัน”
     “ ขอนิมนต์อุปมาอีก ”

     อุปมาด้วยเงาของนก

     “ ขอถวายพระพร ถ้ามีนก ๒ ตัวบินมาจับต้นไม้พร้อมกัน ตัวหนึ่งจับต่ำ ตัวหนึ่งจับสูง เงาของนกตัวไหนจะถึงพื้นดินก่อนกัน”
     “ ถึงพร้อมกัน พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาอีก ”

     อุปมาด้วยการแลดู

     “ ขอถวายพระพร ขอได้โปรดแลดูอาตมา ”
     “ โยมแลดูแล้ว ”
     “ ขอได้โปรดแหงนดู ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ”
     “ โยมแหงนดูแล้ว ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรแลดูอาตมากับแลดูดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อันอยู่ไกลถึง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ข้างไหนจะเร็วช้ากว่ากัน? ”
     “ เท่ากัน พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ที่ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก กับผู้ที่ไปเกิดในเมืองกัสมิระ ไปถึงพร้อมกัน ”
     “ แก้เก่งมาก พระนาคเสน ”

 


 ปัญหาที่ ๖ ถามถึงวรรณะสัณฐานของผู้ไปเกิดในโลกอื่น

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอีกว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามถึงเหตุอันยิ่งขึ้นไป คือผู้ไปสู่โลกอื่น ไปด้วยสีเขียว แดง เหลือง ขาว แสด เลื่อม อย่างไร...หรือ ไปด้วยเพศช้าง ม้า รถ อย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร ข้อนี้พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้ในพระไตรปิฏกพุทธวจนะ” 
     พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระสมณโคดมไม่บัญญัติไว้ว่า ผู้ไปเกิดในโลกอี่น ในระหว่างทางนั้นต้องมีสีเขียว หรือสีเหลือง แดง ขาว แสด เลื่อม อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักทุกสิ่งได้หรือ...
     คำของ คุณาชีวก ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่กล่าวไว้ว่า ผู้ไปสู่โลกอื่นไม่มี ก็ต้องเป็นของจริง ผู้ใดกล่าวว่า โลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี ผู้ไปเกิดในโลกอื่นไม่มี ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่ากล่าวถูก ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ”
     พระนาคเสนตอบว่า
     “ ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงตั้งพระทัยฟังถ้อยคำของอาตมภาพ”
     “ โยมตั้งใจฟังผู้แล้ว ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้อยคำของอาตมภาพที่พ้นออกไปจากปาก ไปถึงพระกรรณของมหาบพิตรนั้น ในระหว่างที่ยังไปไม่ถึงนั้นเสียงของอาตมภาพมีสีอย่างไร มีทรวดทรงอย่างไร ? ”
     “ เห็นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้ามหาบพิตรว่าเห็นไม่ได้ เสียงของอาตมภาพก็ไม่ไปถึงพระกรรณของมหาบพิตร มหาบพิตรก็ตรัสคำเหลาะแหละน่ะซิ ”
     “ โยมไม่ได้พูดเหลาะแหละ ถึงถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้าไม่ปรากฏสีเขียว หรือสีเหลืองในระหว่างทางก็จริง แต่ถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้าก็มาถึงโยมจริง”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงผู้ไปเกิดในโลกอื่นนั้น จะไม่ปรากฏสีเขียวหรือสีเหลืองในระหว่างทางก็จริง แต่ผู้ไปเกิดในโลกอื่นนั้นก็มีอยู่ เหมือนกับถ้อยคำของอาตมา ”
     “ น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเสวยราชสมบัติใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้เถิด เพราะขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรตกแต่ง เกิดขึ้นเอง สงสารก็ไม่มี ”อุปมาด้วยการทำนา
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยโปรดให้ทำนาหรือไม่ ? ”
     “ อ๋อ...เคยให้ทำ ”
     “ ขอถวายพระพร ข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดินย่อมมีรวงงอกขึ้น เมื่อรวงข้าวสาลีงอกขึ้น จะว่างอกขึ้นเองหรืออย่างไร? ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดินย่อมมีรวงงอกขึ้น จะว่างอกขึ้นเอง ไม่มีผู้ใดกระทำไม่ได้ ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าข้าวสาลีที่ปลูกลงในพื้นดิน ยังไม่มีรวงงอกขึ้น เมื่อรวงยังไม่งอกขึ้น จะว่าไม่มีผู้ปลูก จะว่าข้าวสาลีไม่มีจะได้หรือไม่? ”
     “ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถ้าขันธ์ ๕ นี้ไปเกิดเอง คนตาบอดก็จะเกิดเป็นคนตาบอดอีก คนใบ้ก็จะเกิดเป็นคนใบ้อีก บุญก็ไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าขันธ์ ๕ ไม่มีสิ่งใดตกแต่ง เป็นของเกิดขึ้นเอง ขันธ์ ๕ ก็จะต้องไปนรกด้วยอกุศลกรรม”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้น ”อุปมาด้วยการจุดประทีป
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างมีผู้เอาประทีปมาจุดต่อกัน เปลวประทีปดวงเก่าก้าวไปสู่ประทีปดวงใหม่หรืออย่างไร ประทีปทั้งสองนั้น มีขึ้นเองไม่มีผู้กระทำอย่างนั้นหรือ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งใดทำให้เกิดขึ้น”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน เวทนาขันธ์ ไปสู่โลกอื่นหรือ ?”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าเวทนาขันธ์ไปสู่โลกอื่น ผู้ที่ไปเกิดในโลกอื่น ก็คือเวทนาขันธ์อย่างนั้นซิ ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้นแหละมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า เวทนาขันธ์ในอัตภาพนี้ไม่ได้ ไปสู่โลกอื่น ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สัญญาขันธ์ ไปสู่โลกอื่นหรือ? ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าสัญญาขันธ์ไปสู่โลกอื่น ผู้มีมือด้วนเท้าด้วนในอัตภาพนี้ ไปสู่โลกอื่น ผู้มีมือด้วนเท้าด้วนในอัตภาพนี้ ไปสู่โลกอื่นแล้ว ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วนอีกหรืออย่างไร ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เพราะเหตุนั้นแหละ มหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า สัญญาขันธ์ในอัตภาพนี้ ไม่ได้ไปสู่โลกอื่น ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

     อุปมาด้วยกระจก

     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจงทรงหยิบเอากระจกส่องพระพักตร์หรือไม่? ”
     “ มี พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจงทรงหยิบเอากระจกมาวางไว้ตรงพระพักตร์มหาบพิตร”
     “ โยมหยิบมาตั้งไว้แล้ว ”
     “ ขอถวายพระพร ดวงพระเนตร พระกรรณ พระนาสิก พระทนต์ ของมหาบพิตรปรากฏอยู่ในกระจกนี้เอง หรือว่ามหาบพิตรทรงกระทำให้ปรากฏ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดวงตา หู จมูก ฟัน ของโยมปรากฏอยู่ในวงกระจกนี้ ด้วยโยมกระทำขึ้น ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นเป็นอันว่ามหาบพิตรได้ควักเอาพระเนตร ตัดเอาพระกรรณ พระนาสิก และถอนเอาพระทนต์ของมหาบพิตร เข้าไปไว้ในกระจกแล้ว มหาบพิตรก็เป็นคนตาบอด ไม่มีพระนาสิกและพระทนต์อย่างนั้นซิ? ”
     “ ไมใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า เงาปรากฏในกระจก เพราะอาศัยโยมกระทำขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะโยมไม่ได้กระทำขึ้น” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ นี้ไปสู่โลกอื่น ทั้งไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ ไม่มีสิ่งกระทำ เป็นของเกิดขึ้นเอง สัตว์ถือกำเนิดในครรภ์มารดาด้วยกุศลกรรม อกุศลกรรม ที่ตนกระทำไว้ เพราะอาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละ จึงเหมือนเงาปรากฏในกระจก เพราะอาศัยการกระทำของมหาบพิตรฉะนั้น ”
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องถือกำเนิดในครรภ์มารดา

     " ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อสัตว์จะเข้าถือกำเนิดในท้องมารดา เข้าไปทางทวารไหน ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่ปรากฏว่าเข้าไปทางทวารไหน ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร หีบแก้วของมหาบพิตรมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ขอจงนึกเข้าไปในหีบแก้วดูซิ ”
" โยมนึกเข้าไปแล้ว ”
“ ขอถวายพระพร จิตของมหาบพิตรที่นึกเข้าไปในหีบแก้วนั้น เข้าไปทางไหน ? ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน จิตของโยมไม่ปรากฏว่านึกเข้าไปทางไหน” 
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สัตว์ที่เข้าไปถือกำเนิดในท้องมารดา ก็ไม่ปรากฏว่าเข้าไปทางไหนฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน การที่พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งนี้ได้เป็นอัศจรรย์นักหนา ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่คงจะประทานอนุโมทนาสาธุการเป็นแน่แท้”


 ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องโพชฌงค์ ๗

“ ข้าแต่พระนาคเสน โพชฌงค์ มีเท่าไร ? ”
“ ขอถวายพระพร มี ๗ ประการ ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์เท่าไร? ”
“ ขอถวายพระพร บุคคลตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ข้อเดียว ”
“ คือข้อไหน พระผู้เป็นเจ้า ? ”
“ ขอถวายพระพร คือข้อ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ” ( ใคร่ครวญธรรมะ)
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ไว้ทำไม ? ”
“ ขอถวายพระพร พระองค์จะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือดาบที่บุคคลสวมไว้ในฝัก บุคคลไม่ได้ชักออกจากฝัก อาจตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ขาดได้หรือ ? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลปราศจาก ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แล้วาตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ ๖ ไม่ได้”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๙ ถามถึงความมากกว่ากันแห่งบาปและบุญ

“ ข้าแต่พระนาคเสน บุญและบาปข้างไหนมากกว่ากัน ? ”
“ ขอถวายพระพร บุญมากกว่าบาป บาปน้อยกว่า ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทำไมจึงว่าบุญมากกว่า บาปน้อยกว่า? ”
“ ขอถวายพร บุคคลทำบาปแล้วย่อมร้อนใจในภายหลังว่า เราได้ทำบาปไว้แล้วเพราะเหตุนั้นบาปก็ไม่ได้มากขึ้น ส่วนบุญเมื่อบุคคลทำเข้าแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีแต่เกิดปราโมทย์ ปีติ ใจสงบมีความสุข จิตเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น บุญจึงมากขึ้น ดังมีบุรุษผู้มีมือมีเท้าขาดแล้ว ได้บูชาพระด้วยดอกบัวเพียงกำเดียว ก็จักได้เสวยผลถึง ๙๑ กัปด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่าบุญมากกว่า ขอถวายพระพร”
“ ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”


 ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงการทำบาปแห่งผู้รู้กับผู้ไม่รู้้

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมมุติว่ามีคน ๒ คน คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก แต่กระทำบาปด้วยกันทั้งสองคน ข้างไหนจะได้บาปมากกว่ากัน ? ”
“ ขอถวายพระพร ข้างไม่รู้จักได้บาปมากกว่า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ราชบุตรของโยมหรือราชมหาอำมาตย์คนใดรู้ แต่ทำผิดลงไปโยมลงโทษแก่ผู้นั้นเป็นทวีคูณ ”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือสมมุติว่ามีคน ๒ คน จับก้อนเหล็กแดงเหมือนกัน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นก้อนเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ คนไหนจะจับแรงกว่ากัน ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนไม่รู้จับแรงกว่า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ไม่รู้บาปได้บาปมากกว่า”
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๑ ถามถึงผู้ที่ไปอุตตรกุรุทวีปและสวรรค์

“ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ไปสู่อุตตรกุรุทวีปหรือพรหมโลก หรือไม่ทวีปอื่นด้วยกายนี้มีอยู่หรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร มีอยู่ ”
“ ข้อนี้คืออย่างไร พระผู้เป็นเจ้า ? ”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยกระโดดที่แผ่นดินนี้ได้คืบหรือศอก? ”
“ อ๋อ...โยมเคยกระโดดได้ ๘ ศอก ? ”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรกระโดดอย่างไร...จึงได้ถึง ๘ ศอก ? ”
“ พอโยมคิดว่าจะกระโดด กายของโยมก็เบา โยมจึงกระโดดได้ถึง ๘ ศอก ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจทางจิตภาวนา อธิษฐานจิตแล้ว ก็เหาะไปสู่เวหาสได้”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๒ ถามเรื่องกระดูกยาว

“ ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวว่า มีกระดูกยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์ โยมไม่เชื่อเพราะต้นไม้ที่สูงตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็ยังไม่มี กระดูกที่ไหนจักยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยได้ทรงสดับหรือไม่ว่า ปลาในมหาสมุทรตัวยาวตั้ง ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่?”
“ เคยฟัง พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้าอย่างนั้น กระดูกของปลาที่มีตัวยาวตั้ง ๕๐๐ โยชน์ จักยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์มิใช่หรือ ? ”
“ ใช่แล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”


 ปัญหาที่ ๑๓ ถามเรื่องเกี่ยวกับลมหายใจ

“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลอาจทำลมหายใจให้ดับได้หรือ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้ ”
“ ได้อย่างไร...พระผู้เป็นเจ้า ? ”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยได้ยินเสียงคนนอนกรนบ้างหรือ? ”
“ อ๋อ..เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า” 
“ ขอถวายพระพร เวลาเขาพลิกกายเสียงกรนเงียบไปไหม ?”
“ เงียบไป พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เสียงกรนนั้นเป็นเสียงของผู้ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต แต่เมื่อพลิกตัวก็ยังหายไป ส่วนลมหายใจของผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต เข้าจตุตถฌาน จะไม่ดับหรือ...มหาบพิตร ? ”
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๔ ถามว่าอะไรเป็นสมุทร

“ ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวกันอยู่ว่า “ สมุทร ๆ ” น้ำหรือชื่อว่าสมุทร ? ”
“ ขอถวายพระพร น้ำเค็มมีอยู่ในที่เท่าใดที่เท่านั้นแหละ เรียกว่าสมุทร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เหตุใดสมุทรจึงมีรสเดียว คือรสเค็ม? ”
“ ขอถวายพระพร เพราะมีน้ำขังอยู่นานจึงเค็ม ”
“ สมควรแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๕ ถามเรื่องการตัดสิ่งที่สุขุม

“ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลอาจตัดสิ่งที่สุขุมกว่าสิ่งทั้งหลายได้หรือ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อะไรชื่อว่าเป็นสิ่งสุขุมกว่าสิ่งทั้งหลาย” 
“ ขอถวายพระพร พระธรรม ชื่อว่าสุขุมกว่าสิ่งทั้งหลาย แต่ธรรมะไม่ใช่สุขุมไปทั้งหมด คือ สุขุมก็มี หยาบก็มี แต่ว่าสิ่งที่ควรตัดด้วยปัญญามีอย่างเดียว คือ ธรรมะ นอกจากนั้นไม่มี ”
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๖ ถามความวิเศษแห่งปัญญา

“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญา อยู่ที่ไหน ? ”
“ ขอถวายพระพร ปัญญาไม่ได้อยู่ที่ไหน ”
“ ถ้าอย่างนั้น ปัญญาก็ไม่มีน่ะซิ ”
“ ขอถวายพระพร ลมอยู่ที่ไหน ? ”
“ ลมไม่ได้อยู่ที่ไหน ”
“ ถ้าอย่างนั้น ลมก็ไม่มีน่ะซิ ”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๗ ถามความต่างกันแห่งวิญญาณเป็นต้น

" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญา วิญญาณ ชีพในภูต เหล่านี้ มีอรรถะ พยัญชนะต่างกันหรือว่ามีอรรถะอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน ? ”
“ ขอถวายพระพร วิญญาณ มีการ รู้สึก เป็นลักษณะ ปัญญา มีการ รู้ทั่ว เป็นลักษณะ ชีพในภูต คือในผู้ที่เกิดแล้วไม่มี”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าไม่มีชีพเป็นตัวเป็นตน ก็ใครเล่าเห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้มสัมผัสด้วยกาย รู้จักอารมณ์ด้วยใจ ?”
“ ขอถวายพระพร ถ้าชีพเห็นรูปด้วยตาตลอดถึงรู้จักอารมณ์ด้วยใจแล้วเมื่อเปิดตาขึ้น ชีพนั้นก็ต้องมีหน้าไปข้างนอก ต้องได้เห็นรูปดาวได้ดีเมื่อเปิดหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชีพนั้นก็ต้องหันหน้าไปภายนอก รู้จักอารมณ์ได้ดีอย่างนั้นหรือ ? ”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ชีพก็ไม่มีในภูต ”
“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”


 ปัญหาที่ ๑๘ ถามถึงเรื่องสิ่งที่ทำได้ยากของพระพุทธเจ้า

“ ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งที่ทำได้ยากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำนั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก ได้แก่การทรงแสดงซึ่งธรรมอันไม่มีรูปร่าง อันมีอยู่ในจิต เจตสิดอันเป็นไปในอารมณ์อันเดียวเหล่านี้ได้ว่า อันนี้เป็นผัสสะ อันนี้เป็นเวทนา อันนี้เป็นสัญญา อันนี้เป็นเจตนา อันนี้เป็นจิต ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษคนหนึ่งลงเรือไปที่มหาสมุทร วักน้ำขึ้นมาวางไว้ที่ลิ้น ก็รู้ว่านี้เป็นน้ำคงคา นี้เป็นน้ำยมนา นี้เป็นน้ำสรภู นี้เป็นน้ำอจิรวดี นี้เป็นน้ำมหิ ดังนี้ได้ เป็นของง่ายหรือยากล่ะ ?”
“ เป็นของยาก พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร การที่พระพุทธเจ้าทรงบอกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ที่มีในจิตใจ ที่เป็นอารมณ์อันเดียวกันว่า นี้เป็นผัสสะ นี้เป็นเวทนา นี้เป็นสัญญา นี้เป็นเจตนา นี้เป็นจิต ดังนี้ยิ่งยากกว่านั้น ”
“ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”


 ปัญหาที่ ๑๙ พระเจ้ามิลินท์ทรงเลื่อมใสได้ปวารณาพระนาคเสน

พระนาคเสนถวายพระพรว่า
“ มหาบพิตรทรงทราบว่า เวลานี้เป็นเวลาอะไรแล้ว ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมทราบว่าเวลานี้เป็นเวลามัชฌิมยามแล้ว เพราะคบเพลิงสว่างไสว ”
ขณะนั้นพวกเจ้าพนักงานก็นำผ้า ๕ พับมาถวาย ข้าราชการโยนกทั้งหลายก็ทูลขึ้นว่า
“ พระภิกษุองค์นี้ฉลาดมาก เป็นบัณฑิตแท้ พระเจ้าข้า” 
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
“ ถูกแล้ว...เธอทั้งหลาย ถ้ามีอาจารย์อย่างนี้ มีศิษย์อย่างนี้ ไม่ช้าก็ต้องรู้ธรรมะได้ดี ”
พระเจ้ามิลินท์ทรงยินดีด้วยการแก้ปัญหาของพระนาคเสน จึงถวายผ้ากัมพลราคาแสนตำลึงแก่พระนาคเสนแล้วตรัสว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป โยมจะให้จัดอาหารไว้วันละ ๑๐๘ สำรับ สิ่งใดที่สมควรอันมีในพระราชวังนี้ โยมขอปวารณาพระผู้เป็นเจ้าทั้งนั้น”
“ อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพพอมีชีวิตอยู่ได้ก็แล้วกัน”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน โยมรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าพอมีชีวิตอยู่ได้ ก็แต่ว่าขอพระผู้เป็นเจ้าจงรักษาตัวของพระผู้เป็นเจ้า และรักษาตัวของโยมไว้

ข้อที่ว่า ขอให้พระผู้เป็นเจ้ารักษาตัวพระผู้เป็นเจ้าไว้นั้น คืออย่าให้มีผู้ติเตียนได้ว่าพระนาคเสนทำให้พระเจ้ามิลินท์ทรงเลื่อมใสแล้ว ก็ไม่ได้อะไร

ข้อที่ว่า ขอให้รักษาตัวโยมไว้นั้น คืออย่างไร...คืออย่าให้มีผู้กล่าวได้ว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงเลื่อมใสแล้ว ไม่ได้ทรงแสดงอาการเลื่อมใสแต่อย่างใด” 

พระเถระจึงตอบว่า
“ แล้วแต่พระราชประสงค์ ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พญาราชสีห์อันบุคคลขังไว้ในกรงทองย่อมหันหน้าไปภายนอก ฉันใด ถึงโยมจะอยู่ครองบ้านครองเมือง ก็หันหน้าไปภายนอก ฉันนั้น ถ้าโยมออกไปบรรพชา ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่นาน เพราะศัตรูโยมมีมาก ”

แสดงความชื่นชมต่อกัน

ครั้งพระนาคเสนเถระแก้ปัญหาพระเจ้ามิลินท์เสร็จแล้ว จึงกลับไปสู่สังฆาราม เมื่อพระนาคเสนกลับไปแล้วไม่ช้า พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงคิดดูว่า
     เราได้ถามเป็นอย่างไร พระผู้เป็นเจ้าแก้เป็นอย่างไร จึงทรงนึกได้ว่า สิ่งทั้งปวงเราก็ได้ถามดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็ได้แก้ดีแล้ว

ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอย่างเดียวกันกับพระเจ้ามิลินท์ เช้าขึ้นจึงได้ครองจีวรสะพายบาตรเข้าไปที่พระราชนิเวศน์ แล้วนั่งลงบนอาสนะ
     พระเจ้ามิลินท์กราบไหว้แล้ว จึงตรัสขึ้นว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าคิดว่า โยมได้ถามปัญหาพระนาคเสนแล้ว พระผู้เป็นเจ้าย่อมให้ราตรีที่ยังเหลืออยู่ สิ้นไปด้วยความยินดีนั้น ขออย่าเห็นอย่างนี้ ”
โยมได้นึกอยู่ตลอดราตรีว่า การถามของเราเป็นอย่างไร การแก้ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างไร ก็นึกได้ว่า เราถามดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว
พระเถระก็ตอบว่า
“ ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรอย่าคิดว่า อาตมภาพได้แก้ปัญหาของพระเจ้ามิลินท์แล้ว มหาบพิตรย่อมทรงบรรทมหลับตลอดราตรีที่ยังเหลืออยู่ด้วยความยินดีนั้น ขออย่าทรงเห็นอย่างนี้
อาตมภาพได้คิดอยู่ตลอดราตรีที่ยังเหลืออยู่ว่า พระเจ้ามิลินท์ถามอะไรแล้ว เราได้แก้อะไรแล้ว ก็นึกได้ว่า พระเจ้ามิลินท์ได้ถามสิ่งทั้งปวงแล้ว เราก็ได้แก้สิ่งทั้งปวงแล้ว ”

เป็นอันว่า ปราชญ์ทั้งสองนั้น ได้แสดงความชื่นชมยินดีต่อกันและกันอย่างนี้

- - - จบวรรคที่ ๗ - - -


- - - - - จบมิลินทปัญหา - - - - -



  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย