ค้นหาในเว็บไซต์ :
พระเมฆิยเถระ

ประวัติ : พระเมฆิยเถระ

   ท่านพระเมฆิยะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เป็นบุตรใคร เกิดในตระกูลไหน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่อไร อยู่ในสำนักของใคร ที่ไหน ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน เรื่องราวของท่านที่ปรากฏในปกรณ์นั้น ๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น

    ตามประวัตินั้น ปรากฏว่าท่านได้เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์หนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในเรื่องอุทานหน้า ๑๐๔ มีข้อความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพตในกรุงจาลิกามีท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก วันหนึ่งท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลลาพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม

     เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตแล้ว เวลารุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น เมื่อเวลากลับจากบิณฑบาตเดินมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นสวนมะม่วงมีอากาศร่มเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะกลับมาทำความเพียรที่สวนนั้น

    ครั้นกลับมาแล้วจึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสห้ามว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงรอก่อน ดังนี้ ถึง ๓ ครั้ง ท่านพระเมฆิยะไม่เชื่อฟัง กราบทูลลาแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระองค์แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สวนมะม่วงนั้น

     ในการบำเพ็ญเพียรของท่าน ก็หาได้สำเร็จมรรคผลตามความประสงค์ไม่ เพราะท่านถูกวิตก ๓ เข้าครอบงำ จึงกลับมาเฝ้ากราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสสอนวิธีระงับวิตก ๓ ประการนั้น โดยอเนกปริยาย

ชั้นต้น ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ 
     ๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร 
     ๒. เป็นผู้มีศีลสำรวมในพระปาติโมกข์ 
     ๓. เป็นผู้พูดวาจาเป็นสุภาษิต (วาจาที่ขัดเกลา คือ พูด แล้วไม่นำมาซึ่งโทษมีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว) 
     ๔. เป็นผู้มีความเพียรความบากบั่น 
     ๕. เป็นผู้มีปัญญา 

และพระองค์ตรัสให้บำเพ็ญธรรมอีก ๔ ประการ คือ 
   - อสุภะ เพื่อจะได้ละซึ่งราคะ ๑ 
   - เมตตา เพื่อจะได้ละพยาบาท ๑ 
   - อานาปานสติ เพื่อจะได้ตัดเสียซึ่งวิตก ๑ 
   - อนิจจสัญญา เพื่อจะได้ถอนอัสมิมานะเสียได้เด็ดขาด ๑

     ท่านพระเมฆิยะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ซึ่งนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ในจำนวน ๘๐ องค์

    ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยกาลอันสมควรแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย