"ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" จึงจะชนะ ข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดได้
- ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วง ทางกาย วาจา ได้ด้วย "ศีล"
- ชนะความยินดียินร้าย และหลงรักหลงชัง เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วย "สมาธิ"
- ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิดจากความเป็นจริงของ สังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วย "ปัญญา"
ผู้ศึกษาปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" บริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย "
นามเดิม : ตรึก จินตยานนท์
กำเนิด : 5 ก.พ. 2440
สถานที่เกิด : กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท : ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2468 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์
สมณศักดิ์ : -
มรณภาพ : 8 ม.ค. 2514 อายุ 74 ปี 46 พรรษา
ภายหลังจากที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนัก ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการ ไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ" ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน
ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิง พระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ ที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้