"กรรม-เวร" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

 วิริยะ12  

.
 "กรรม-เวร"

" .. เมื่อพูดถึงกรรมแล้ว จะต้องพูดถึงเวรด้วยจึงจะเข้าใจดี "กรรม คือ การกระทำของบุคคล ด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจในทางดีและไม่ดี เรียกว่า กรรม" กรรมนี้เมื่อบุคคลทำลงไปแล้ว "ย่อมให้ผลตามมาไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้าหรือชาติต่อ ๆ ไป" ดังได้อธิบายแล้ว และไม่จำเป็นที่ผู้นั้นหรือสิ่งนั้น ๆ จะต้องมาให้ผลกรรมที่ทำไว้

ตัวอย่างเช่น "นายแดงไปดักสัตว์ในป่า มีอีเก้งตัวหนึ่งมาติดบ่วงแล้วตาย" นายแดงเลยไปเอามากิน นายแดงนั้นผู้ทำกรรมแล้ว เพราะไปดักอีเกิ้ง อีเก้งจึงตาย "กรรมนั้นตามทันให้นายแดงได้รับกรรม" คือดักบ่วงให้นายแดงมาถูกบ่วง อย่างนายแดงทำให้แก่อีเก้งตัวนั้น อาจเป็นเรื่องอื่น เป็นต้นว่า "เกิดมาอายุสั้นตายเร็ว หรือตายเพราะตกต้นไม้" หรือตกบันได ฟ้าฝ่า ควายขวิด ตกหลุมตกบ่อก็ได้ "อันนี้เรียกว่า กรรม"

"เวร นั้นต้องมีจิตมุ่งมั่นอาฆาต" ปรารถนามุ่งร้ายต่อกันและกันด้วยเหตุขัดเคืองเคียดแค้นต่อกันอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วผูกอาฆาตจองเวรกัน เช่น นายเหม็นไปทำร้ายร่างกายแก่นายหอม โดยที่นายหอมไม่ได้ทำอะไรให้แก่นายเหม็นเลย นายหอมต่อว่านายเหม็น นายเหม็นเลยโกรธเอานายหอม จึงเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น คราวนี้ต่างคนต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน

"ต่างหมายมั่นปั้นมือว่า วันหนึ่งข้างหน้า หรือเดือนหนึ่ง ปีหนึ่งชาติหนึ่งข้างหน้า เมื่อกูได้โอกาสกูจะต้องทำร้ายมึงให้ถึงแก่ความฉิบหายให้ได้" แน่นอนทีเดียว เมื่อคนเรามีจิตแน่วแน่จองเวรในบุคคลใดแล้ว ถึงแม้จะตายไปเกิดเปลี่ยนสภาพร่างกายไปเป็นร่างอื่นก็ตาม

"ผู้ที่เป็นเวรต่อกัน เมื่อเห็นกันเข้าแล้ว จิตใต้สำนึกจะรู้สึกขึ้นมาให้น่าเกลียดน่าชัง โดยที่ไม่คำนึงถึงรูปร่างลักษณะเลย" ได้โอกาสเมื่อไรแล้วจะเข้าประหัตประหารให้สาสมแก่ใจที่ผูกโกรธไว้นั้น

"เวรนี้เป็นของน่ากลัวที่สุด" จองเวรซึ่งกันและกันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ "ด้วยจิตที่อาฆาตไม่ปรารถนาหวังดีต่อกัน มีโมหะจริตเป็นมูลฐาน" .. "

"กรรม"(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
แสดง ณ วัดหินหมาเป้ง อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย
วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ 

5,561







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย