พญาช้างสีลวะ (สีลวนาคชาดก)

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้ไม่รู้คุณคน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างขาวปลอดเชือกหนึ่ง ชื่อ สีลวนาคราช เป็นสัตว์มีศีล เที่ยวหากินอยู่ที่ป่าหิมวันตะ

วันหนึ่งมีพรานป่า ชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง พลัดหลงป่า กลัวตายจึงนั่งร้องไห้อยู่ พญาช้างได้ยินเสียงคนร้องไห้ จึงเข้าไปช่วยนำเขาขึ้นขี่คอไปยังที่อยู่ของตน นำผลไม้มาเลี้ยง ให้เขาพักอยู่สองสามวัน จึงนำไปส่งปากทาง ในขณะที่อยู่บนคอช้าง นายพรานคิดวางแผนร้าย ได้กำหนดต้นไม้ไว้แล้ว พอถึงปากทางพญาช้างบอกให้นายพรานอย่าได้บอกเรื่องนี้แก่ใคร

วันนั้น นายพรานได้เดินทางไปที่ถนนช่างสลักงา สอบถามถึงความต้องการงาช้าง เมื่อพวกนายช่างแจ้งให้ทราบว่า งาช้างที่เป็นอยู่มีราคาแพงกว่างาช้างที่ตายแล้ว ในวันรุ่งขึ้นนายพรานจึงถือเอาเลื่อยไปสู่ที่อยู่ของพญาช้าง เพื่อของาช้างนำไปขายเลี้ยงชีพ พญาช้างก็มอบปลายงาทั้งคู่ให้ไปตามความประสงค์

พอหมดเงินเขาก็เดินทางไปของากับพญาช้างอีกเป็นครั้งที่ ๒ พญาช้างก็ให้ส่วนกลางของงา จนถึงครั้งที่ ๓ เหลือแต่โคนงา ก็ขอพญาช้างอีก พญาช้างก็มอบให้ด้วยความกรุณา นายพรานได้ขึ้นเหยียบกระทืบปลายงาทั้งสอง ฉีกเนื้อตรงสนับงาแล้วเอาเลื่อยตัดโคนงา สร้างความเจ็บปวดเวทนาแก่พญาช้างอย่างมาก พอนายพรานเดินไปลับจักษุพญาช้างเท่านั้น แผ่นดินก็แยกออกสูบเขาจมธรณีตาย ณ ที่นั้น

รุกขเทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในป่านั้น ได้กล่าวคาถาว่า
" คนอกตัญญูคอยจับผิดอยู่เป็นนิตย์
ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ทำให้เขาพึงพอใจไม่ได้ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้อกตัญญูไม่รู้คุณคนแม้ฟ้าดินก็ลงโทษ

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

12,835






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย