|
|
ประติมากรรมพุทธประวัติปางประสูตร
วัดพรหมวงศาราม กรุงเทพมหานคร พระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา)
ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงเหนี่ยวกิ่งสาละ พระบรมโพธิสัตว์อยู่อิริยาบถยืน
พร้อมด้วยบรรดาข้าราชบริพาร บางแบบมีพระพรหม พระอินทร์
และเหล่าเทวดาล้อมอยู่ด้วย |
พระบรมโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลก
เสด็จปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ เมื่อพระนางทรงพระครรภ์แก่ได้เสด็จกลับไปคลอดที่กรุงเทวหะ
ซึ่งเป็นบ้านเกิดตามธรรมเนียม ครั้นเสด็จถึงลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหะ
ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (วันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน
๖) ในเวลาใกล้เที่ยง พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ณ
โคนต้นสาละ ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ
เมื่อประสูติพระราชกุมารก็อยู่ในอิริยาบถยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ
เสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ
๗ ดอก แล้วทรงกล่าววาจาอันองอาจว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก
เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่มิได้มี" |
|
|
|
ประติมากรรมพุทธประวัติปางมหาภิเนษกรมณ์
วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ
มีนายฉันนะ เกาะหลังม้าตามเสด็จ ขาม้าทั้ง ๔ ขา มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง
๔ ประจำอยู่ นำพระองค์เหาะข้ามกำแพงพระนครออกไปด้วยปาฏิหารย์
ความเป็นมาของปางมหาภิเนษกรมณ์
|
พระราชกุมาร
ทรงพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงได้รับคำทำนายจากดาบสและพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทว่าจะเสด็จออกบรรพชา
และตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก เมื่อทรงเจริญวัย ทรงศึกษาศิลปศาสตร์
๑๘ ประการจนสำเร็จ ทรงอภิเษกกับพระนางพิมพา และมีพระโอรสพระนามว่า
ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะทรงตระหนักถึงทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ซึ่งย่ำยีสรรพสัตว์โดยไม่ยกเว้น จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จหนีออกบรรพชา
โดยเสด็จขึ้นหลังม้ากัณฐกะและมีนายฉันนะตามเสด็จ |
|
|
ประติมากรรมพุทธประวัติปางตัดพระเมาลี
(มวยผม) วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
(นั่ง) บนพระแท่นพระหัตถ์ซ้ายทรงรวบพระเมาลีไว้ พระหัตถ์ขวาทรงพระขันค์ทำอาการทรงตัดพระเมาลี
มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะอยู่ด้านหลัง
ความเป็นมาของปางตัดพระเมาลี
|
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าพระเมาลีไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต
จึงทรงตัดออกด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นพระเกศาก็ปรากฏยาวประมาณ
๒ องคุลี ม้วนกลมเป็นทักขิณาวัฏ (เวียนขวา) ทุกๆเส้น และคงอยู่อย่างนั้นตราบถึงดับขันธปรินิพพาน
แล้วทรงจับพระเมาลีขว้างขึ้นไปบนอากาศ อธิฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้
ก็ให้พระเมาลี จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา แม้นมิได้ตรัสรู้สมความประสงค์
ขอให้พระเมาลีตกลงสู่พื้นพสุธา" พระเมาลีนั้นได้ประดิษฐานลอยอยู่บนอากาศสูงประมาณ
๑ โยชน์ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) อัญเชิญพระเมาลีไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ในสวรรคชั้นดาวดึงส์
ฆฏิการพรหมได้นำเครื่องอัฐบริขาร คือสิ่งจำเป็นสำหรับบรรพชิตมาน้อมถวาย
แล้วอัญเชิญพระภูษาเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ไปบรรจุไว้ ณ ทุสเจดีย์ในพรหมโลก |
|
|
พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
(นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้น
ตั้งฝ่าพระหัตถ์เสมอพระอุระ ( อก ) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย
อันเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต
ความเป็นมาของปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
|
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา
จึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่า
พระองคักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร
เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่า เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ |
|
|
พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ
วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ
( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ที่วางอยู่บนพระเพลา
( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) ทอดพระเนตรลงต่ำ
ความเป็นมาของปางปัจจเวกขณะ
|
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ
หรือ พระบรมโพธิสัตว์ ได้บรรพชาแล้ว ได้เสด็จไปเสวยสุขจากการบรรพชา
ณ ป่ามะม่วงนามว่า อนุปิยอัมพวัน โดยเว้นการเสวยพระกระยาหาร
๗ วัน ด้วยอิ่มในสุขจากการบรรพชา ในวันที่ ๘ ได้เสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ในเขตกรุงราชคฤห์ แล้วเสด็จมาประทับ ณ บัณฑวบรรพต ทอดพระเนตรอาหารซึ่งปะปนกันในบาตรแล้วเสวยไม่ลง
เพราะเคยเสวยแต่อาหารที่ประณีต จึงได้เตือนพระองค์เองว่า
"บัดนี้เราเป็นบรรพชิต ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่มีสิทธิ์เลือกอาหารตามใจชอบ
การบริโภคอาหารของผู้แสวงหาสัจธรรมนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด
ไม่มีจุดประสงค์อื่น นอกจากแสวงหาทางหลุดพ้นเท่านั้น"
แล้วจึงเสวยภัตตาหาริ |
ข้อมูล/ภาพ
: หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ
ใจภักดี |
|