ธรรมะจากหลวงพ่อ


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน)
เจ้าอาวาสวัดสระเกศ

พระพุทธเจ้าทรงสอนคนทั้งหลายในโลก เรื่องความสุขมี ๒ ประการ
     ๑. ความสุขในทางกาย เรียกเป็นคำบาลีว่า กายิกสุขิ ความสุขด้วยร่างกาย แต่ความสุขที่ทรงประสงค์แม้จะเป็นความสุขในทางกาย ต้องเป็นไปในทางร่มเย็นระยะยาว ไม่ใช่ความสุขกายที่เกิดขึ้นชั่วระยะ แล้วทำให้เกิดความรุ่มร้อนตามมาทีหลัง ความสุขนั้น แม้จะเป็นความสุขที่ต้องการกัน แต่ก็ต้องนึกในใจว่าเป็นความสุขที่จะมีความเดือดร้อนภายหลังมองไม่ค่อยเห็น อาจกล่าวว่ามองไม่เห็นในขณะนั้น มีความสุขกายอย่างธรรมดา เช่น ความสุขกายในการเดินทางไปที่ต่างๆ เช่น ในเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น เดินทางกันไปไกล ก่อนที่เดินทางก็มีความบันเทิงสนุกสนาน บางทีก็มีความเดือดร้อนกลายเป็นความทุกข์กายตามมา ความสุขกายที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์นั้น หมายถึงความสุขกายที่จะสืบทอดไปยาวนาน ไม่ใช่ที่เกิดขึ้นชั่วระยะ แล้วนำความทุกข์กายมาภายหลัง

     ๒. ความสุขทางใจ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า เจตสิกสุข เป็นความสุขภายในใจ มองไม่เห็น ไม่เป็นตัวตน เป็นนามธรรม ไม่เหมือนความสุขทางกาย ซึ่งเห็นได้ง่าย สิ่งที่เห็นอยากนั้นจึงต้องมีการพิจารณาด้วยเหตุผลอย่างรอบคอบ และต้องพิจารณาในเวลาที่จิตใจปลอดโปร่ง รู้สึกว่ามี ความสุขกายเป็นพื้นแล้ว ก็พิจารณาที่ปลอดโปร่งอย่างนั้นแล้วก็พอเห็นได้ ความสุขใจนั้นสำคัญและเป็นสิ่งที่เราต้องการอย่างมาก แต่จะทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความสุขใจอย่างที่เราทุกคนต้องการกัน ข้อนี้อาจจะพูดโยตรง คือ การปฏิบัติธรรม ก็คือกรรมฐานั้นเอง จะเป็นสมถกรรมฐานก็ตาม จะเป็นวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม นั้นเป็นความสุขใจ หรือทำให้เกิดความสุขใจโดยตรง การปฏิบัติพระกรรมฐานจะมุ่งให้เกิดความสุขใจยาวนานถาวร ก็ต้องลงมือปฏิบัติที่ต้องใช้ระยะเวลาเหมือนกัน แต่เมือ่มีโอกาสไปปฏิบัติก็จะทำให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจทั้งสิ้น ไม่ใช่สุขใจ สิ่งที่อยู่รอบตัวเราส่วนใหญ่จะทำให้เกิดความทุกข์ใจนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เรามักจะเข้าใจผิดว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเป็นเหตุให้เกิดความสุข แต่แท้ที่จริงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์เป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำความเข้าใจให้ดีได้ปฏิบัติเป็นพื้นฐาน อาศัยพระกรรมฐานดังกล่าวแล้ว ก็สามารถทำสิ่งที่อยู่รอบตัวเราที่จะทำให้เกิดความทุกข์ใจนั้น เป็นความสุขได้ พอได้เห็นได้ยินก็รู้ทันทีแล้วก็ทำให้เป็นความสุขใจ กลายเป็นเอาสิ่งทั้งหลายที่จะเป็นโทษเป็นภัยรอบตัวเรา หรือจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจนั้นทำใหเกิดความสุขใจได้

ตามหลักอภิธรรมที่กล่าวสั้นว่า อกุศลเป็นเหตุให้เกิดกุศลได้ อกุศลที่จริงไม่น่าเป็นเหตุให้เกิดกุศลได้คือความดีได้ แต่วาตามหลักที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วก็ชัดเจน เพียงแต่มีสติแล้วสิ่งที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจกลับเป็นความสุขใจ เพราะเรารู้เท่าทัน ตามหลักพระกรรมฐานนั้นเองเหมือนกับร่างกายของเรานั้นแหละ หรือเบญจขันธ์คือพระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นเหตุให้เกิดความสุขใจ ความจริงเป็นความสุขใจที่แท้จริง โดยเอาร่างกายเป็นเครื่องพิจารณาไม่ใช่เอาบนฟ้าบนดินเอาอยู่ที่ตัวเรา ดังนั้นถ้าตั้งใจให้ดีแล้ว จะพบสิ่งที่เราต้องการคือความสุขี เป็นการพูดกว้างครอบคลุมไปหมด วันนี้ถ้าจะพูดตามคตินิยมคือวันขึ้นปีใหม่ของไทย เมื่อพูดถึงวันขึ้นปีใหม่ที่นิยมกันคือวันที่ ๑ มกราคมก็ดี วันขึ้นปีใหม่แบบสงกรานต์ก็ดี ทุกคนก็ต้องการความดีกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้แล้วมี ๔ อย่าง อายุ วรรณะ สุข พละ
     อายุ การมีอายุที่ดีที่แจ่มใส
     วรรณ การมีผิวพรรณที่ผุดผ่อง
     สุข การมีความสุขทางกายและทางใจ
     พละ การมีกำลังทั้งทางกายและทางใจ

นี่คือที่ปรารถนาอย่างธรรมดาของคนทั้งหลายในโลกนี้ ธรรมะทีเราต้องการเหมือนกัน ๔ อย่าง คือธรรมะที่เป็นส่วนผลไม่ใช่เหตุ ธรรมะที่เป็นเหตุนั้นมีไม่มากมี ๒ ประการ คือ
     ๑.อภิวาทนสีลิสสะ นิยมการกราบไหว้
     ๒.นิจจัง วุฑฒาปจานิโย นิยมการอ่อนน้อมถ่อมตน

ถ้ามี ๒ อย่างนี้แล้วก็จะได้ ๔ อย่างตามมา
     อภิวาทนสีลิสสะ คือนิยมการกราบไหว้ เห็นอะไรที่ควรไหว้ ไหว้ เห็นอะไรที่ควรกราบ กราบ ไม่ใช่กราบไหว้เรื่อยไป แต่เรากราบสิ่งที่เราควรกราบ ไหว้สิ่งที่เราควรไหว้ สิ่งที่สูงสุดคือพระพุทธเจ้า รองลงมาคือบิดามารดา เมื่อเรานิยมการกราบการไหว้แล้วทำให้การกระทำของเราดีตามไป การพูดการคิอก็จะดีตามไปด้วย การนิยมการกราบการไหว้อย่างเดียวได้ทั้ง ๔ อย่าง
     นิจจัง วุฑฒาปจานิโย คือนิยมการอ่อนน้อมถ่อมตน ตามคำโบราณว่าไว้ว่า เหมือนไม้จิ้มผีเป็นไม้สำหรับพลิกศพไปมา ไม่มีใครต้องการเป็นไม้จิ้มผี ต้องการตนเองได้ดี ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าทำได้ทั้ง ๒ อย่างก็จะได้ทั้ง ๔ อย่าง




หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
© ๒๕๔๘ : ธรรมะไทย - dhammathai.org