พุทธศาสนสุภาษิต

วิธีอ่านภาษาบาลี


 

คำในภาษาบาลี เมื่อนำมาเขียนถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้ว จะมีลักษณะที่ควรสังเกตประกอบการอ่าน ดังนี้

 

๑. ตัวอักษรทุกตัวที่ไม่มีเครื่องหมายใดอยู่บนหรือล่าง และไม่มีสระใดๆ กำกับไว้ ให้อ่านอักษรนั้นมีเสียง "อะ" ทุกตัว เช่น

     อรหโต อ่านว่า อะ-ระ-หะ-โต
     ภควา อ่านว่า ภะ-คะ-วา
     นมามิ อ่านว่า นะ-มา-มิ
     โลกวิทู อ่านว่า โล-กะ-วิ-ทู

 

๒. เมื่อตัวอักษรใดมีเครื่องหมาย  ฺ (พินทุ) อยู่ข้างใต้แสดงว่าอักษรนั้นเป็นตัวสะกดของอักษรที่อยู่ข้างหน้า ผสมกันแล้วให้อ่านเหมือนเสียง อะ+(ตัวสะกด) นั้น เช่น

     สมฺมา (สะ+ม = สัม) อ่านว่า สัม-มา
     สงฺโฆ (สะ+ง = สัง) อ่านว่า สัง-โฆ

ยกเว้นในกรณีที่พยัญชนะตัวหน้ามีเครื่องหมายสระกำกับอยู่แล้ว ก็ให้อ่านรวมกันตามตัวสะกดนั้น เช่น

     พุทฺโธ       อ่านว่า พุท-โธ
     พุทฺธสฺส    อ่านว่า พุท-ธัส-สะ
     สนฺทิฏฺฐิโย อ่านว่า สัน-ทิฏ-ฐิ-โย
     ปาหุเนยฺโย อ่านว่า ปา-หุ-เนย-โย

 

๓. เมื่ออักษรใดมีเครื่องหมาย  ํ (นฤคหิต) อยู่ข้างบนตัวอักษร ให้อ่านให้เหมือนอักษรนั้นมีไม้หันอากาศและสะกดด้วยตัว "ง" เช่น

     อรหํ     อ่านว่า อะ-ระ-หัง
     สงฺฆํ     อ่านว่า สัง-ฆัง
     ธมฺมํ     อ่านว่า ธัม-มัง
     สรณํ    อ่านว่า สะ-ระ-นัง
     อญฺญํ   อ่านว่า อัญ-ญัง

แต่ถ้าตัวอักษรนั้นมีทั้งเครื่องหมาย  ํ (นฤคหิต) อยู่ข้างบนและมีสระอื่นกำกับอยู่ด้วย ก็ให้อ่านออกเสียงตามสระที่กำกับ + ง (ตัวสะกด) เช่น

     พาหุํ อ่านว่า พา-หุง

 

๔. เมื่ออักษรใดเป็นตัวนำแต่มีเครื่องหมาย ฺ (พินทุ) อยู่ข้างใต้ด้วย ขอให้อ่านออกเสียง "อะ" ของอักษรนั้นเพียงครึ่งเสียงควบไปกับอักษรตัวตาม เช่น

     สฺวากฺขาโต อ่านว่า สะหวาก-ขา-โต

 

 





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย