< จิตตคหบดี / พระพุทธสาวก / พระพุทธศาสนา - ธรรมะไทย


จิตตคหบดี
จิตตคหบดีเป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะแคว้นมคธ วันที่ท่านเกิดมีปรากฎการณ์ประหลาด คือมีดอกไม้หลากสีตกลงทั้งเมือง ซึ่งเป็นนิมิตหมายแห่งความวิจิตรสวยงาม ท่านจึงได้นามว่า จิตตกุมาร แปรว่า กุมารผู้น่าพิศวงหรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม

บิดาของท่านเป็นเศรษฐี ท่านจึงได้เป็น เศรษฐีสืบต่อมาจากบิดา ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า จิตตคหบดี ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธศาสนาท่านมีโอกาสพบพระมหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เห็นท่านสงบสำรวมน่าเลื่อมใสมาก จึงมีความศรัทธานิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ พระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ

วันหนึ่งได้แสดงเรื่อง อายตนะ ๖ (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคหบดีได้บรรลุอนาคามิผล

จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เนือง ๆ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดี ความสามารถของท่านในด้านนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ท่านเคยโต้วาทะกับบุคคลสำคัญของศาสนาอื่น ๆ มาแล้วหลายท่าน เช่น นิครนถ์นาฏบุตร (ศาสดาของศาสนาเชน) และอเจลกนามกัสสปะ (นักบวชชีเปลือย)

ท่านเป็นผู้มีใจบุญได้ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันครึ่งเดือนก็เคยมี เคยพาบริวารสองพันคนบรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้งน้ำอ้อย เป็นต้น จำนวนมากถึง ๕๐๐ เล่มเกียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

ครั้งหนึ่งท่านป่วยหนัก เทวดามาปรากฏให้เห็นกล่าวกับท่านว่าคนมีบุญอย่างท่านนี้ แม้ปรารถนาราชสมบัติหลังตายแล้วก็ย่อมได้ ท่านตอบเทวดาว่าถึงราชสมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ บรรดาลูกหลานที่นั่งเฝ้าไข้อยู่ นึกว่าท่านเพ้อจึงกล่าวเตือนสติ ท่านบอกบุตรหลานว่ามิได้เพ้อ เทวดามาบอกให้ปรารถนาราชสมบัติ ต่อท่านปฏิเสธยังมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า เมื่อถูกถามว่าคืออะไร ท่านกล่าวว่าคือ ศรัทธาอันแน่วแน่ มั่นคงในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

อัมพาฏการามนั้นเป็นวัดที่ท่านสร้างถวายพระมหานามะนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำ แต่พระเถระพักอยู่ชั่วเวลาหนึ่งก็จาริกไปยังที่อื่น พระเถระอื่น ๆ ก็แวะมาพักอยู่เสมอๆ ต่อมามีพระรูปหนึ่งนามว่า สุธรรมเถะ ยังเป็นปุถุุชนมาพำนักอยู่เป็นประจำเป็นเวลานานจนกระทั่งนึกว่าตัวท่านเป็นสมภารวัด พระสุธรรมเป็นปุถุชน จิตตคหบดีเป็นอริยบุคคลระดับอนาคามี ถือเพศฆราวาสก็ยังแสดงความเคารพกราบไหว้พระภิกษุปุถุชน เพราะถือเพศบรรพชิตเป็น "ธงชัยแห่งพระอรหันต์" อุปถัมภ์บำรุงท่านเป็นอย่างดี

วันหนึ่งพระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเดินทางผ่านมา ท่านจิตตคหบดีนิมนต์ให้พระอัครสาวกทั้งสองพำนักอยู่ที่อัมพาฏการาม พร้อมนิมนต์เพื่อฉันอาหารที่บ้านท่านในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ไปนิมนต์พระสุธรรมไปฉันด้วย

พระสุธรรมถือตัวว่าเป็นเจ้าอาวาสเห็นจิตตคหบดีให้ความสำคัญแก่พระอัครสาวกมากกว่าตนถึงกับนิมนต์ไปฉันภายหลัง จึงไม่ยอมรับนิมนต์ แม้ท่านจะอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ยอมรับ

ตกเย็น ท่านจิตตคหบดีกำลังสั่งให้เตรียมภัตตาหาร พระสุธรรมก็เดินไปในคฤหาสถ์อย่างคนคุ้นเคย ดูนั้นดูนี่แล้วก็เปรยว่า
"อาหารที่ท่านเตรียมถวายพระพรุ่งนี้ดีทุกอย่าง แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่ไม่ได้เตรียมถวาย"
จิตตคหบดี "ขาดอะไร พระคุณเจ้า"
พระสุธรรม "ขนมแดกงา" คำว่าขนมแดกงาเป็นคำที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับตระกูลของท่านคหบดี ท่านคหบดีก็ฉุนว่าเอาแรง ๆ เพื่อให้สำนึก พระสุธรรมไม่สำนึกแต่โกรธตอบ หนีจากวัดไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงตำหนิแรง ๆ และมีพุทธบัญชาให้กลับไปขอโทษจิตตตคหบดี ท่านกลับไปขอโทษแต่คหบดีไม่ยอมยกโทษให้จึงกลับมาเฝ้าพระพุทธองค์อีก

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระสุธรรมบรรลุพระอรหันต์พระองค์จึงให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นอนุทูตพาพระสุธรรมไปขอขมาจิตตคหบดีใหม่ คราวนี้ท่านคหบดียกโทษให้

ท่านจิตตคหบดีมีปฏิภาณเฉียบแหลมและมีความสามารถในการแสดงธรรมมาก จึงได้รับการยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทางเป็นธรรมกถึก

เมื่อศึกษาประวัติของจิตตคหบดีแล้วให้ความคิดได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นของชาวบ้านทุกคน คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาพระพุทธพจน์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง จนสามารถสื่อสารแสดงให้คนอื่นเข้าใจได้ สามารถปกป้องพระพุทธศาสนาได้

ที่มา : ชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม


   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย