ค้นหาในเว็บไซต์ :
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่เมียนมา(พม่า)

 

ประวัติพระพุทธศาสนาในพม่า

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่าในยุคใดนั้น ประวัติศาสตร์ยังเลือนลางอยู่ แต่เชื่อกันว่า พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่า เมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย ได้อุปถัมภ์การสังคยานา ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ได้มีการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบ ประเทศต่าง ๆ รวม ๙ สายด้วยกัน พม่าก็อยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิด้วย และชาวพม่ายังเชื่อว่า สุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองสะเทิม ทางตอนใต้ของพม่า


จากประวัติศาสตร์ ได้ทราบว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าในราว พุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะ ได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า ตารนาถ เห็นว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เข้ามาสู่เมือง พม่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบมหายานลัทธิตันตระ เข้าไปเผยแผ่ ในครั้งนั้น พม่ามีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกชาวพม่าว่า "มรัมมะ" ส่วนพวกมอญ หรือ ตะเลง ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงรวมๆ เรียกว่า รามัญประกาศ จนพระพุทธศาสนาทั้งแบบมหายาน และแบบเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในพม่า เป็นเวลาหลายร้อยปี



ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศพม่าเป็นอย่างมากทั้งแบบเถรวาท และมหายาน ก่อนหน้าที่พม่าจะมานับถือศาสนาพุทธ พม่าก็นับถือ ผีสางนางไม้ เหมือนชนชาติอื่น ๆ ในแหลมอินโดจีนลงจนถึงอินโดนีเซีย ซึ่งชาวพม่านับถือ ผี สาง นางไม้ บูชากราบไหว้วิญญาณ หรือภูติผี ปีศาจ ซึ่งเรียกกันว่า นัต นัตนี้เป็นทั้งพระภูมิเจ้าที่ เทพยดาธรรมชาติ ผีดิน ผีฝน ผีลม ตลอดจนเจ้าเขา เจ้าป่า เจ้าแม่น้ำ เจ้าต้นไม้ รวมทั้งเจ้าประจำหมู่บ้าน เจ้าประจำเรือน จากสงครามในครั้งนั้น สามารถรวมเอาเมืองสะเทิม ของพวกมอญ กับเมืองพุกามของพม่า รวมเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ พวกมรัมมะหรือ พม่า เป็นผู้ชนะได้รับเอาวัฒนธรรมของพวกมอญมาเป็นของตนเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ตัวอักษร ภาควรรณคดี และศาสนา เป็นต้น


ตั้งแต่บัดนั้นมาพม่าจึงได้เปลี่ยนการนับถือพระพุทธศาสนามหายาน มาเป็นแบบเถรวาท แต่ก็ยังหลงเหลืออิทธิพลของความเชื่อฝ่ายมหายานอยู่บ้างไม่น้อย พระเง้า อนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา ทรงนำเอาพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังการ ๓ จบ และนำมาชำระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม ทรงอุปถัมภ์ศีลกรรมต่าง ๆ การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาติพม่าทั่วทั้งประเทศ


กษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทำนุบำรุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์ ส่วนศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูก็เสื่อมไปหมด และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรืองนี้ พระภิกษุจำนวนมาก ได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่ กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ ๆ สายลังกา แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕ ซึ่งทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะ มาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษพระเจ้าอโนรธามังช่อ ครองราชสมบัติได้ ๓๓ ปี เสด็จสวรรคตเพราะถูกกระบือเผือกขวิด


เมื่อ พ.ศ. ๑๖๒๐ พระโอรสพระนามว่า จอลู ขึ้นครองราชย์แทน ได้เพียง ๒ ปี ก็ถูกปรงพระชนม์จากการกบฏ แม่ทัพกันชิตขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้ากันชิต ได้แผ่อาณาเขตลงมาถึงตะนาวศรี ในสมัยนั้นชาวพุทธอินเดียได้อพยพลี้ภัยจากพวกมุสลิม และได้นำแบบแผนพุทธเจดีย์จำนวนมากเข้ามาด้วย พระเจ้ากันชิต จึงได้โปรดให้สร้างพระธาตุชะเวดากอง ซึ่งพระเจ้าอโนรธามังช่อ สร้างค้างไว้จนเสร็จสมบูรณ์


พ.ศ. ๑๖๓๔ ทรงโปรดให้สร้างอานันทเจดีย์ขึ้น จัดเป็นปูชนียสถานที่สวยงามแหงหนึ่งในพม่า นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ส่งคณะทูตไปปฏิสังขรณ์พุทธวิหารที่อินเดีย นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์พม่าจัดการปฏิสังขรณ์วิหารพุทธคยานี้ พระเจ้ากันชิตสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๕๕


ในสมัยของพระเจ้านรปฏิสิทธุ (ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๖) ได้ส่งสมณทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เมื่อพ.ศ. ๑๗๓๓ โดยมีพระอุตราชีวะเป็นประธาน ครั้งนั้น ได้มีเด็กชาวมอญคนหนึ่งชื่อ ฉะบัฏ บวชเป็นสามเณรติดตามไปยังลังกา ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในลังกา และได้อุปสมบทในลัทธิลังกาวงศ์ ต่อมาภายหลัง ได้เดินทางกลับพม่าพร้อมกับพระภิกษุอีก ๔ รูป คือ พระสิวลี พระราหุล พระตามวินทะ และพระอานนท์ ได้ตั้งนิกายใหม่ในพม่าคือ นิกายสิงหล (ลัทธิสาวกยานแบบลังกาวงศ์) 



การเกิดขึ้นของนิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ในประเทศพม่า โดยพระภิกษุคุปตะ ผู้ได้รับการอุปสมบทจาก ลังกา แล้วมาเผยแผ่ในพม่า ก่อให้เกิดความขัดแย้ง กล่าวคือ พระภิกษุนิกายสิงหลไม่ยอมรับว่า พระพม่าได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง จึงเกิดการขัดแย้งกันระหว่างพระนิกายสิงหล กับ พระนิกายมะระแหม่งของพม่า เป็นเวลานานถึง ๓ ศตวรรษและในที่สุด พระสงฆ์นิกายสิงหลก็เป็นฝ่ายชนะ


พ.ศ. ๑๗๕๓ พระเจ้าชัยสังข์ขึ้นครองราช ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบปรางค์ พุทธคยาจากอินเดีย กลับมาสร้างวิหารมหาโพธิที่เมืองพุกามขึ้น พม่ายังได้นำเอาแบบปรางค์พุทธคยามาสร้างที่เมืองเชียงใหม่ ณ ที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) พ.ศ. ๑๘๓๑ อาณาจักรพุกามได้ล่มสลายลง เพราะถูกพวกกุบไลข่าน ยกทัพมาตีจีนก่อน และตีพุกามจนแตก จนพระเจ้านรสีหปติ เสร็จหนี ทิ้งเมืองพุกามไป กองทัพมองโกล ตีพุกามได้แล้ว ก็ยกทัพกลับไป ทางด้านพระศาสนาก็ยังคงรุ่งเรืองสืบมา อาณาจักรพุกามเป็นเมืองหลวงของพม่าอยู่ ๒๔๐ ปี ก็เสื่อมลง


เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ ต่อมามีเชื้อพระวงศ์พุกามองค์หนึ่ง ได้สถาปนากรุงรัตนบุรอังวะขึ้นเป็นราชธานี เมื่ออิทธิพลของพุกามเสื่อมลง พวกไทยใหญ่ได้รวมพวกกันรุกรานพม่าตอนเหนือ และได้สร้างเมืองใหญ่เมืองน้อยอยู่กระจายทั่วไป ในขณะนั้นก็ได้มีการสร้างอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัยด้วย ทางด้านเมืองมอญ ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ศรีปิฎกธร ทรงครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓

ในขณะนั้นพระสงฆ์ในเมืองมอญได้แตกแยกเป็น ๖ คณะใหญ่ มีความหย่อนยานทางข้อปฏิบัติ และขาดความเป็นเอกภาพในคณะสงฆ์ จึงทรงฟื้นฟูใหม่ด้วยการให้คณาจารย์จาก ๖ สำนักใหญ่มาประชุมกัน ขอร้องให้ไปอุปสมบทใหม่ในลังกา เพื่อให้เกิดความเสมอภาพและเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์จาก ๖ สำนักก็เห็นชอบด้วย จึงได้เดินทางไปลังกาเพื่ออุปสมบทใหม่ โดยมีพระคณาจารย์ ๒๒ รูป พระอนุจรอีก ๒๒ รูป รวมเป็น ๔๔ รูป เดินทางไปลังกา กษัตริย์ลังกาทรงอุปถัมภ์ด้วยดี ทรงนิมนต์พระมหาเถระชาวลังกา ๓ รูป คือ พระธรรมกิตติ พระวันรัต และพระมังคละ และสงฆ์อีก ๒๕ รูป ทำการอุปสมบทแก่สงฆ์มอญใหม่


เมื่อกลับมาสู่เมืองหงสาวดีแล้ว พระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ได้ประกาศราชโองการให้พระสงฆ์ทั่วแผ่นดินสึกกันหมด แล้วบวชใหม่ กับคณะสงฆ์ที่บวชจากลังกา โดยเรียกคณะใหม่ว่าคณะกัลยาณี ในครั้งนั้นได้มีพระบวชในคณะกัลยาณีถึง ๑๕,๖๖๖ รูป คณะสงฆ์เมืองหงสาวดีก็กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แต่ก็เพียงชั่วพระชนมายุของพระเจ้าธรรมเจดีย์เท่านั้น เมื่อหลังการสวรรคตของระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว ก็เกิดการแตกแยกกันอีก



ในรัชสมัยของพระเจ้าเมงกะยินโย ครองเมืองตองอู ขณะนั้นพระพม่าแบ่งออกเป็น ๓ เมืองใหญ่ ๆ ได้แก่ อังวะ ของไทยใหญ่ เมืองแปรของมอญ และตองอู ของพม่า ทั้ง ๓ เมืองมุ่งแต่จะทำสงครามกัน ไม่มีเวลาสนใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเลย

ในสมัยพระเจ้าบุเรงนองได้มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และห้ามฆ่าสัตว์ใหญ่ เมื่อมีคนตาย พระเจ้าบุเรงนองเรืองอำนาจมากจนชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ มีประเทศราชทั่วสุวรรณภูมิ คือ อังวะ แปร เชียงใหม่ อยุธยา ยะใข่ ล้านช้าง และหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ทรงครองราชอยู่ได้ ๓๐ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๔


เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พระโอรสขึ้นเสวยราชแทน แต่ไม่มีอำนาจเหมือนพระเจ้าบุเรงนอง เมืองขึ้นต่าง ๆ ได้ประกาศตัวเป็นอิสรภาพ รวมทั้งไทยด้วย พม่าต้องทำศึกกับไทย ๔ ครั้งใหญ่ ๆ ไทยเป็นผู้ชนะทุกครั้ง


พวกมอญได้รวบรวมพรรคพวก โดยได้เชิญพระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระสะล่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางเวทย์มนต์คาถา เชิญให้สึกออกมา คิดแผนการณ์ไล่พม่าออกจากเมืองได้สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ผู้ครองนครหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๓ มีพระนามว่า พระเจ้าสทิงทอพุทธเกติ ได้แผ่อิทธิพลตีเมืองตองอู และเมืองแปรได้สำเร็จ นับว่าเป็นยุคที่มอญเรืองอำนาจ


ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ชนชาติโปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับประเทศพม่า มีโปรตุเกสคนหนึ่งได้มาแต่งงานกับพระธิดาของเจ้าเมืองเมาะตะมะ และได้ช่วยพระเจ้ายะไข่ปราบกบฏ จนมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสีเรียม จึงถือโอกาสเผยแผ่ลัทธิโรมันคาทอลิค ด้วยการเบียดเบียนพุทธศาสนา เช่นริบทรัพย์สมบัติของวัด เที่ยวยื้อแย่งเจดีย์สถาน ห้ามประชาชนใส่บาตรทำบุญ จนพระสงฆ์ต้องลี้ภัยไปกรุงอังวะ เพื่อร้องทุกข์กับกษัตริย์พม่า ในที่สุดพม่ากับมอญได้ร่วมมือกันกำจัดพวกโปรตุเกสที่เบียดเบียนพระพุทธศาสนา โดยจับขึงไม้กางเขนตายหลายคน



พวกมอญได้ยึดครองพม่าเพียง ๗ ปีเท่านั้น ก็ได้สิ้นอำนาจลงจากการทำสงครามกับอลองพญา ซึ่งประกาศแต่งตั้งราชธานีขึ้นเอง ชื่อว่ากรุงรัตนสิงห์ ได้มาตีกรุงหงสาวดี เมื่อพ.ศ. ๒๒๙๙ ในที่สุดกรุงหงสาวดีก็แตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ มอญจึงได้สูญสิ้นอำนาจ


พม่ากลับมีอำนาจอีกครั้ง และพม่าหลังจากได้ปราบมอญได้แล้ว จึงได้ยกทัพมาตีไทย ตีครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๐๓ นำโดยอลองพญา แต่ไม่สำเร็จ โดย อลองพญาได้สวรรคต เพราะปืนใหญ่แตก แต่ก็สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาจึงถูกพม่าเผาผลาญเสียวอดวาย ได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่า คือ การสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๕ (ของฝ่ายเถรวาท) ณ เมืองมัณฑะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง และได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ทั้งของศรีลังกา ไทย กัมพูชา และลาว


อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคม และมีอำนาจในพม่า เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า คือ พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญา ได้สิ้นลง


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ เมื่อคราวพม่าทำสงครามกับอังกฤษ ครั้งที่ ๓ อังกฤษเอาชนะพม่าโดยปราศจากสัญญาใด ๆ พระราชา คือ พระเจ้าธีบอ และพระมเหสี ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองรัตนคีรีในประเทศอินเดีย พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ส่วนพระนางศุภยะลัต กลับมาสวรรคตที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘


ในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่านั้น ประชาชนไม่พอใจ และต่อต้านอังกฤษหลายเรื่อง เช่น การประกาศยุบประเทศพม่าให้เป็นมณฑลอันหนึ่งของอินเดีย จึงมีการก่อกบฏขึ้น แต่ก็ถูกอังกฤษปราบปราม ประชาชนก็ยังต่อต้านอังกฤษในทางศาสนาและวิถีการเมือง ได้มีการก่อตั้งสมาคมศาสนธรขึ้น เพื่อรักษาพระพุทธศาสนา จากการมุ่งทำลายจากศาสนาคริสต์ และมีสมาคมยุวพุทธิกะซึ่งมีเยาวชนจำนวนมากเป็นสมาชิก มีอิทธิพลตามมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ โดยการร่วมมือระหว่างพระกับ ฆราวาส พระภิกษุสงฆ์ได้แสดงธรรมต่อต้านอังกฤษ และเดินขบวนอย่างเปิดเผย บางรูปถูกจับไปขังคุกก็มี ในขณะที่อังกฤษปกครองอยู่นั้น คณะสงฆ์แตกแยกกัน เป็นพวกเป็นกลุ่มต่าง ๆ บางกลุ่มปฏิบัติหย่อนยานมาก คล้ายฆราวาสก็มี ตำแหน่งสังฆราชก็ว่างลง ประชาชนจึงรวมตัวกันขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษแต่งตั้งพระสังฆราชในนามเจ้ากรุงอังกฤษ จึงได้เกิดพระสังฆราชขึ้นใหม่ แต่ก็ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง คณะสงฆ์เลย



เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ได้สถาปนาเป็นสหภาพพม่า เมื่อได้รับเอกราชแล้ว รัฐบาลได้สถาปนาคณะมนตรีพระพุทธศาสนาขึ้นทันที ซึ่งได้ขยายศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาไปยังแหล่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง เริ่มต้น เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗ โดยมีพระสงฆ์ทรงความรู้จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งศรีลังกา ไทย กัมพูชา ลาว อินเดีย และปากีสถาน พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีฉบับที่เป็นหลักฐานเชื่อถือได้ ถูกรวบรวมแล้วเสร็จบริบูรณ์ทันงานฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๕


พอจะสรุปเหตุการที่สำคัญ ๆ อันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศพม่าตั้งแต่ต้นจนถึงรัชสมัย พระเจ้าธรรมเจดีย์นั้น แบ่งเป็นยุค ๆ ได้ ๕ ยุค ดังนี้

ยุคแรก คือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรืออาจก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีก็ได้ เป็นที่รู้จักกันดีในพม่าใต้ จารึกต่าง ๆ ที่ค้นพบ เขียนเป็นภาษาบาลีด้วยอักษรแบบอินเดียตอนใต้

ยุคที่ ๒ เป็นสมัยที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐) ได้ชำระพระพุทธศาสนาในพม่าเหนือให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ได้จากเมืองมอญเป็นหลัก โดยเอาไปเทียบกับคัมภีร์ที่ได้มาจากลังกา

ยุคที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๓) ท่านอุตตราชีวะกับท่านฉปัทผู้เป็นศิษย์ ซึ่งการศึกษาที่ประเทศลังกา โดยท่านฉปัทได้รับการอุปสมบทที่นั่น ไม่ยอมรับพระมอญว่าเป็นพระที่สมบูรณ์ จึงก่อให้เกิดเป็น ๒ นิกายขึ้นในพม่าเหนือนั่นก่อน แล้วต่อมาก็ขยายตัวจนมาถึงพม่าใต้

ยุคที่ ๔ (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๙๓) ลัทธิลังกาวงศ์ โดยการนำของพระสารีบุตรและคณะ ได้เริ่มมีอำนาจมาจนถึงพม่าใต้และพวกรามัญนิกายก็เริ่มเสื่อมลง

ยุคที่ ๕ (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๓) พระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งกรุงหงสาวดี ได้ทรงประกาศว่า พระองค์ได้ทรงชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว ตามแบบของคณะมหาวิหารในลังกา ซึ่งเป็นนิกายเดียวที่เก่าแก่ที่สุด

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาต่อประเทศพม่า 
๑. ด้านสังคม 
-ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ปัจจุบันประชากรของประเทศพม่า ประมาณ ๑๘ ล้านคน นับถือพุทธศาสนา ประมาณ ๑๕ ล้านคน คือ ผู้นับถือประมาณร้อยละ ๘๐ 
- ด้านวัฒนธรรมประเพณี 
พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของชาวพม่า เช่น 

* ชาวพม่านิยมให้ลูกบวชเป็นสามเณรมาก ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนนาน ดังปรากฏในอดีตว่า มีพระเถระนักปราชญ์ชาวพม่าหลายรูปที่มีบทบาทในการเผยแผ่พุทธศาสนาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประเทศเพื่อบ้าน เช่นให้การช่วยเหลือแก่ประเทศลังกาในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา 

* ชาวพม่ามีความศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนามากจึงนิยมสร้างเจดีย์มาก พระมหากษัตริย์ในอดีตได้ทุ่มเทสร้างวัดวาอารามมากมาย 

* วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาโดยแต่ละวัดจะมีโรงเรียน เพราะวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา เช่นเดียวกับประเทศไทยในอดีต 

* ประเพณีและวันสำคัญของพม่า เช่นงานประเพณี และเทศกาลประจำปีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา 

* สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม สิ่งก่อสร้าง เช่น วิหาร เจดีย์ หรือ ปูชนียสถานอื่น ๆ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา 
* เป็นศูนย์รวมของจิตใจของพม่าและยึดพระพุทธศาสนาเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิต

๒. ด้านการเมือง 
๑. พระพุทธศาสนาอยู่ในฐานะศาสนาประจำชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายรับรองว่าเป็นศาสนาประจำชาติ และกฎหมายอื่น ๆ อีกมากเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา 

ปัจจุบันนี้ประเทศพม่า โดยการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า หรือ SLORC [ State Law and Order Restoration Council ] ได้ถูกประณามว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ โดยการปกครองที่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ได้ทำการกดขี่ประชาชนและพระสงฆ์อย่างไร้จิตสำนึกทางด้านมนุษยธรรม ในครั้งที่รัฐบาลทหารได้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยครั้งนั้นพรรคของนาง อองซาน ซูจี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกยึดอำนาจโดยรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า ปัจจุบันนี้ทางพระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยการต่อสู้อย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยได้จัดตั้งสหภาพยุวสงฆ์แห่งพม่า ( All Burma Young Monks' Union) ในเขตปลดปล่อย โดยมีพระภิกษุเคมะสาระ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสหภาพยุวสงฆ์แห่งพม่า ในเขตปลดปล่อย ได้พิมพ์เอกสารและข้อเขียนเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกับรัฐบาลทหารพม่า 

๓. ด้านเศรษฐกิจ 
- อิทธิพลจากหลักธรรมคำสั่งสอนที่สอนด้วยเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขายได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของชาวพม่า เช่นกับความเชื่อของชาวพุทธทั่วไปในประเทศต่าง ๆ เช่นการประกอบอาชีพสุจริต ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น เป็นต้น 
- การนำพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 
- การนำหลักธรรมหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน


เอกสารอ้างอิง

1.ชิตมโน. พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๓ 
2.พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ ; ธรรมสภา, ๒๕๔๐. 
พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖. 
4.พระภิกษุเคมะสาระ. ชกใต้เข็มขัด ธรรมเนียมปฏิบัติเผด็จการพม่า. มปท. พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๔๐. 
5.พระมหาอุทัย ธมฺมสาโร. พระพุทธศาสนาและโบราณคดีในเอเซีย. กรุงเทพฯ: เฟื่องอักษร. ๒๕๑๖. 
6.พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เล่ม ๖ พระพุทธศาสนาในลังกา พม่า มอญ . กรุงเทพฯ: การศาสนา. ๒๕๓๐ 
7.เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕.

 




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย