องค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน ป.ธ. ๙) วัดมกุฏกษัตริยาราม

องค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน ป.ธ. ๙) วัดมกุฏกษัตริยาราม

ทรงดำรงตำแหน่ง ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ –๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔ ในรัชกาลที่ ๙ รวมเป็นเวลา ๖ ปี
พระนามเดิม จวน
พระฉายา อุฏฺฐายี
นามสกุล ศิริสม
พระชนก หงส์
พระชนนี จีน
ประสูติ วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
การศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงสอบได้ ป.ธ. ๙
ทรงบรรพชา วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๕๗ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
ทรงอุปสมบท วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๖๐ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๘
สิ้นพระชนม์ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ สิริรวมพระชนมายุ ๗๔ พรรษา ๕๔

สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหารทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๘ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๗ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา

พระองค์มีพระนามเดิมว่า จวน ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี พระชนมายุ ๑๔ พรรษา ได้ไปศึกษาอยู่ กับพระมหาสมณวงศ์ ( แท่น โสมทัดโต ) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม ( วัดเขาวัง ) ที่วัดเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี พระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม กับพระอริยมุนี ( แจ่ม จตฺคสลฺโล ) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม

พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้เป็นบรรณาธิการ หนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์คำประพันธ์ต่าง ๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ ในปีเดียวกันนี้ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๖๒,๒๔๖๔ และ ๒๔๖๕ สอบได้เปรียญธรรม ๔,๕ และ ๖ ประโยค ตามลำดับ

พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๔๖๗,๒๔๗๐ และ ๒๔๗๒ สอบได้เปรียญธรรม ๗,๘ และ ๙ ประโยค ตามลำดับ

พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี

พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ

พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที เป็นประธานกรรมการบริหาร ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี

พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่

พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที

พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่

พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส

พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ฯ

พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภณ

พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสังฆนายก ครั้งที่ ๑

พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสังฆนายก ครั้งที่ ๒

พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช

พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

ด้านการศึกษา ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัญ จากการที่ได้ ตรวจชำระ พระไตรปิฎกบางปกรณ์ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน

พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลี ประโยค๔-๕-๖

พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามงกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่ ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท และ พุทธศาสนสุภาษิต กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุกรรมการอุปนายกและนายกกรรมการมหามงกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ ด้านการต่างประเทศ เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้น ๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔

งานเผยแผ่พระศาสนา ได้ทรงดำเนินการมาโดยตลอดไปรูปแบบต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงร่วมกับคณะมิตรสหาย ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พุทธสมาคม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)

พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก

พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ งานพระนิพนธ์

พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา

พ.ศ. ๒๔๘๒ ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถา แทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น มีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา

เลือกอ่านพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราชองค์อื่นๆ ได้ที่นี่

   ความคิดเห็น










จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย