องค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ ป.ธ. ๔) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

องค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ ป.ธ. ๔) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ทรงดำรงตำแหน่ง ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๗ –๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๑ ในรัชกาลที่ ๙ รวมเป็นเวลา ๑๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน
พระนามเดิม วาสน์
พระฉายา วาสโน
นามสกุล นิลประภา
พระชนก บาง
พระชนนี ผาด
ประสูติ วันพุธที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงสอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๒ ทรงสอบได้ ป.ธ. ๔
ทรงบรรพชา วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๕๕ ณ วัดราชบพิธ
ทรงอุปสมบท วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ณ วัดราชบพิธ
ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๗
สิ้นพระชนม์ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ สิริรวมพระชนมายุ ๙๑ พรรษา ๗๐

สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ในตำแหน่ง ๑๔ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พระชนมายุ ๙๑ พรรษา

พระองค์มีพระนามเดิมว่า วาสน์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่อำเภอนครหลวงจังหวัด พระนครศรีอยุธยาบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ วัดราชบพิธ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมตามลำดับ สอบได้เปรียญ ๔ประโยค

พ.ศ. ๒๔๖๕ และ ๒๔๖๖ เป็นพระครูโฆสิตสุทธสร พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ และเป็นกรรมการตรวจธรรมและบาลีสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นพระราชาคณะที่ พระจุลคณิศร ปลัดซ้ายของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นกรรมการคณะธรรมยุต

พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และเป็นสมาชิกสภาสังฆสภา

พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง และภาค ๒ เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร และเป็นกรรมการการสังคายนาพระธรรมวินัย

พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี และรักษาการณ์ในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ

พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี

พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และเป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค ๑

พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นเจ้าคณะธรรมยุต ผู้ช่วยภาค ๑-๒-๖ และเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระนครสมุทรปราการ กับ นครสวรรค์

พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นผู้รักษาการณ์ในตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุต ภาค ๑-๒-๖ และเป็นอุปนายกกรรมการ มหามกุฎราชวิทยาลัยฯ

พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นกรรมการเถรสมาคม

พระองค์ได้บริหารงานพระศาสนา ในการคณะสงฆ์มาโดยตลอดเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้

- นายกกรรมการและนายกสภาการศึกษา มหามงกุฎราชวิทยาลัย
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- ประธานการศึกษาของคณะสงฆ์
- ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ประธารกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนา และมนุษยธรรม
- เป็นองค์อุปถัมภ์ในกิจการด้านการพระศาสนา และการสงเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิสังฆ ประชานุเคราะห์ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ศูนย์และชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ( วาสนมหาเถร ) สถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศน์ และมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช ( วาสนมหาเถร ) เป็นต้น

งานเผยแผ่ศาสนธรรม นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี นับเป็นครั้งที่ ๓ ของประเทศไทย

การบรรยายธรรม ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถ เป็นประจำ การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม ๘ ค่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗

การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง ๗๓ จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม

งานสาธารนูปการ ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดแสงธรรมสุทธาราม จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิทอง จังหวัดอยุธยา อาคารเรียนโรงเรียน ประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิทอง จังหวัดอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดอยุธยา ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาวนาราม หอนาฬิกา จังหวัดอยุธยา ศาลาที่พักริมทางหลวง ๘ แห่ง ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร ๒ หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดอยุธยา สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือ โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา งานสร้างพุทธมณฑล ให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑

งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่าง ๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ ๖ สังคหวัตถุ ๔ สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ ๒ ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น

เลือกอ่านพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราชองค์อื่นๆ ได้ที่นี่

   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย