มงคลที่ ๓๔ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ

๏ ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์
ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน
ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก ๛

 

การทำให้แจ้งในพระนิพพาน

นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง

 

ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ ๒ ระดับดังนี้คือ

๑. การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
- สอุปาทิเสสนิพพาน

 

๒. การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้ว ไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้)
- อนุปาทิเสสนิพพาน

 

การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด

 

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ
ท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี ๘ ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึกดังต่อไปนี้

 

บาลีปรารภพระนิพพาน ๘

๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า พระนิพพานย่ำยีเสียซึ่งความเมา มีความเมาในความเป็น คนหนุ่ม และเมาในชีวิต โดยคิดว่าตนจะไม่ตายเป็นต้น ให้สิ้นไปจากอารมณ์ คือคิดเป็นปกติเสมอว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โลกนี้ทั้งสิ้น มีความฉิบหายเป็นที่สุด

๒. ปิปาสวินโย แปลว่า พระนิพพาน บรรเทาซึ่งความกระหาย คือความใคร่กำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการถูกต้องสัมผัส

๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า พระนิพพาน ถอนเสียซึ่งอาลัยในกามคุณ ๕ หมายความว่า ท่านที่เข้าถึงพระนิพพาน คือมีกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่ผูกพันในกามคุณ ๕ เห็นกามคุณ ๕ เสมือนเห็นซากศพ

๔. วัฏฏปัจเฉโท แปลว่า พระนิพพาน ตัดเสียซึ่งวนสาม คือ กิเลสวัฏได้แก่ ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ไม่มีความมัวเมาในกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย กรรมวัฏ ตัดกรรม อันเป็นบาปอกุศล วิปากวัฏคือตัดผลกรรมที่เป็นอกุศลได้สิ้นเชิง

๕. ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ แปลว่า นิพพานธรรมนั้น ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหา ตัณหาไม่กำเริบอีก มีความหน่ายในตัณหา ไม่มีความพอใจในตัณหาอีก ดับตัณหาเสียได้สนิทตัณหาไม่กำเริบขึ้นอีกได้แม้แต่น้อย

๖. นิพพานัง แปลว่า ดับสนิทแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรมอำนาจทั้ง ๔ นี้ ไม่มีโอกาสจะให้ผล แก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงพระนิพพานแล้วได้อีก ตามข้อปรากฏว่ามีเพียง ๖ ข้อ ความจริงข้อที่ ๕ ท่านรวมไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหักขโย ๑ วิราโค ๑ นิโรโธ ๑ ข้อนี้รวมกันไว้เสีย ๓ ข้อแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น ๘ ข้อพอดี ท่านลงในแบบว่า ๘ ก็เขียนว่า ๘ ตามท่าน ความจริงเมื่อท่านจะรวมกัน ท่านน่าจะเขียนว่า ๖ ข้อก็จะสิ้นเรื่อง เมื่อท่าน เขียนเป็นแบบมาอย่างนี้ ก็เขียนตามท่าน

ท่านสอนให้ตั้งจิตกำหนดความดีของพระนิพพาน ตามในบาลีทั้ง ๘ แม้ข้อใด ข้อหนึ่งก็ได้ตามความพอใจ แต่ท่านก็แนะไว้ในที่เดียวกันว่า บริกรรมภาวนาว่า "นิพพานัง" นั่นแหละดีอย่างยิ่งภาวนาไป จนกว่าจิตจะเข้าสู่อุปจารฌาน โดยที่จิตระงับนิวรณ์ ๕ ได้สงบแล้ว เข้าถึงอุปจารฌานเป็นที่สุด กรรมฐานนี้ ที่ท่านกล่าวว่าได้ถึงที่สุด เพียงอุปจารฌานก็เพราะ เป็นกรรมฐานละเอียดสุขุม และใช้อารมณ์ใคร่ครวญเป็นปกติ กรรมฐานนี้จึงมีกำลังไม่ถึงฌาน

 

อานิสงส์

อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่คลุกเคล้าด้วยอำนาจกิเลส และตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจกรรมฐานกองนี้ให้มาก ๆ และแสวงหาแนวปฏิบัติ ที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่านมีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนัก เพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้ เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่านก้าวเข้าไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสามขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้ครบถ้วน

 

พระนิพพานไม่สูญ ?

ท่านนักปฏิบัติได้กำหนดกรรมฐานในอุปสมานุสสตินี้แล้ว ท่านอาจจะต้องประสบกับปัญหายุ่งสมอง ในเรื่องพระนิพพานอีกตอนหนึ่ง เพราะบรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลาย ได้พากันโฆษณามาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ แต่พอมาอ่านหนังสือของพระอรหันต์ท่านเขียน คือหนังสือวิสุทธิมรรค ท่านกลับยืนยันว่า พระนิพพานไม่สูญ ดังท่านจะเห็นตามบาลีทั้ง ๘ ที่ท่านยกมาเป็นองค์ภาวนา นั้น คือ มทนิมฺมทโน พระนิพพานตัดความเมาในชีวิต ปิปาสวินโย นิพพานบรรเทาความกระหายใน กามคุณ ๕ อาลยสมุคฺฆาโต พระนิพพานถอนอาลัยในกามคุณ วัฏฏปัจเฉโท พระนิพพานตัดวนสามให้ขาด ตัณหักขโย พระนิพพานมีตัณหาสิ้นแล้ว หรือสิ้นตัณหาแล้วเข้าสู่นิพพาน วิราโค มีความเบื่อหน่ายในตัณหา นิโรโธ ดับตัณหาได้สนิทแล้ว โดยตัณหาไม่กำเริบอีก นิพพานัง มีความดับสนิทแล้วจากกิเลส ตัณหา อุปาทานกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดอีกในวัฏสงสาร





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย