ค้นหาในเว็บไซต์ :

พุทธมณฑล
ศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก

     เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจของชาวพุทธทั้งประเทศได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐

      ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

     วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้นมี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐

     พุทธมณฑลสมัยนั้นก็เป็นเสมือนป่าเราดี ๆ นี่เอง ยังไม่เกิดเป็นอำเภอ จุดที่อยู่ใกล้และมีชื่อเสียงให้รู้จักกันคือตำบลศาลายา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี การก่อสร้างเริ่มไปได้ไม่เท่าไร รัฐบาลท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็หมดอำนาจ เป็นผลให้การก่อสร้างพุทธมณฑลหยุดชะงักไป จนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการรับมอบงานก่อสร้างต่อจากกระทรวงมหาดไทย มาดำเนินการจัดสร้าง คราวนี้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์

     การก่อสร้างดำเนินการต่อไปแต่ก็ดูจะไม่รวดเร็วนัก มาสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้หน่วยทหารเป็นหน่วยหลัก แม้แต่หน่วยที่อยู่ใกล้ ๆ เช่นกองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งในเวลานั้นผมย้ายไปรับราชการอยู่ที่กองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ กองทัพภาคที่ ๔ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้หน่วยทหารทั้งที่เป็นหน่วยกำลังรบ หน่วยโรงเรียนทหาร เช่น ร.ร.นายร้อย จปร. หน่วยฝ่ายเสนาธิการเช่นกรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ที่เต็มใจจะช่วยเหลือแม้แต่ตระกูลสำคัญ ๆ ที่มีสตางค์แยะมาช่วยกันสร้างตกแต่งให้เกิดเป็นสวนขึ้นในพุทธมณฑล และได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งก่อนจะเล่ารายละเอียดของการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ผมขอเชิญชวนท่านไปเที่ยวชมในพุทธมณฑลเสียก่อน เพราะเรื่องนี้หากจะให้ทราบละเอียดสักหน่อยก็คงจะยาวสักนิด หากเข้าไปในพุทธมณฑลในเวลานี้ เข้าประตูที่อยู่เลยร้านลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบไปหน่อย ผ่านป้อมยามรับบัตรไม่เสียค่าผ่านประตู พื้นที่ สถานที่จะงดงามสุดพรรณนา ร่มรื่นไปทั่วบริเวณที่ผมได้บอกแล้วว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างสวนไว้ ๒๐ ปีเศษผ่านไป ต้นไม้ต่าง ๆ เติบโต สูงใหญ่ให้ความร่มรื่นหมดแล้ว สวยจริงๆ และพื้นหญ้าข้างล่างก็ตัดแต่งโล่งเตียน จุดนี้สำคัญมาก หากต้นไม้โตใหญ่ แต่ข้างล่างหญ้ารกรุงรังก็หมดความงามกลายเป็นป่าไป แต่นี้ตัดแต่งหญ้าเรียบตลอดทั้งพื้นที่ "๒,๕๐๐ ไร" ไม่มีส่วนไหนเลยที่หญ้าจะไม่ได้รับการตัดแต่งจึงงดงามมาก และทั่วบริเวณด้านชายสวนจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาตัวโต ๆ รอรับอาหารจากผู้มาเที่ยวจะซื้ออาหารโยนไปให้กิน ในวันที่ผมไปนี้คือ ฤดูฝนน้ำจะเต็มขอบสระน้ำใสสะอาด จะนั่งริมน้ำหรือนั่งใต้ร่มไม้ จะเอาอาหารไปกินก็ได้ แต่อย่าลืมนึกถึงเรื่องความสะอาดของสถานที่ คนไปนั่งกินอาหารขอให้มีวัฒนธรรมที่ดีงามติดไปด้วย เศษอาหารและภาชนะขอให้เก็บทิ้งให้หมด ขอให้เสียดายสถานที่นี้กันมาก ๆ ว่างดงามสงบเพียงใด

- พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ -

     พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมายจึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วนคือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ และระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูป

- วิหารพุทธมณฑล -
     วิหารพุทธมณฑล ซึ่งหากมองจากถนนใหญ่จะเห็นชัดเจน แต่เมื่อมองจากองค์พระพุทธรูปประธาน มองตัดความงดงามของสวนไม้ดอกออกไปก็จะเห็นความงดงามอย่างยิ่ง เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๒๕ พุทธศตวรรษขนาด ๒,๕๐๐ มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๘

     ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อสร้างเสร็จในปี ๒๖๒๔

     ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖

     หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๙

     หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด ๑.๖๐ เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖

     สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕

     การไปชมอาคารทุกหลังจะไปสะดวกมาก มีถนนที่ลัดเลาะไปสวนไม้ที่ร่มรื่น ริมสระน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม และมีป้ายบอกทิศทางไป อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่

     อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๕

     ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด ๒๐ หลัง ด้านข้างโปร่ง

     ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด ๘ หลัง

     พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ ๒ จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ ๓ ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ

     หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ

     มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๑ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่าหลวงพ่อฯ บริจาคผมเคยไปเห็นพระไตรปิฎกหินอ่อน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่า แต่ความงดงามของสถานที่นั้นจะเทียบกันไม่ได้เลย

     โรงอาหาร ก็เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล

     หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร

      ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล

     สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง

     ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน จำหน่ายวัตถุมงคล "พระ ๒๕ พุทธศตวรรษประทับยืนปางลีลา" ยังมีจำหน่ายองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อตอนเริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกนั้น ผมเคยเช่าจากปะรำพิธีในสนามหลวงองค์ละ ๑๐ บาท สิบบาทเมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว น่าจะสูงกว่า ๑๐๐ บาทในปัจจุบัน

     ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระเช่นกัน เสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้ามีถวายสังฆทาน อาทิตย์บ่ายมี พระธรรมเทศนา ไปติดกันเทศน์ทำบุญได้

     สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่

     ศาลาสรีรสราญ มีห้องสุขาไว้บริการประชาชน เห็นมีแห่งเดียวและได้แนะแล้วว่าควรเป็นห้องสุขาแบบผสม

     เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี ๘ หลัง

     พื้นน้ำของพุทธมณฑลนั้นงามยิ่ง น้ำเต็มเปี่ยม สนามขอบสระน้ำเรียบเขียวชอุ่ม โล่งเตียน เนื้อที่พื้นน้ำมีมากถึง ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนต้นไม้มี ๑,๕๖๒ ไร่ เป็นถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคาร และสิ่งก่อสร้างเพียง ๙๔ ไร่ จากจำนวนทั้งหมด ๒,๕๐๐ ไร่

- ตำบลปฐมเทศนา -

     "สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" ซึ่งต้องตระเวนไปหาให้พบ หาไม่ยากเพราะมีป้ายนำคือ
          "ตำบลประสูติ" ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่างๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล,มคธ-อังคะ,สักกะ วัชชี,มัลละ,วังสะ,กุรุ
          "ตำบลตรัสรู้" ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง
          "ตำบลปฐมเทศนา" ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
          "ตำบลปรินิพพาน" ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม

     "สวน" ต้องขอยกย่องและเชิดชูความงดงามของสวนต่างๆ ในพุทธมณฑลแห่งนี้ได้แก่
          "สวนเวฬุวัน" คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด
          "สวนอัมพวัน" คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด
          "สวนธรรม" คือสวนกระถินณรงค์
          "สวนไทร" มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่นยิ่งนัก

     สวนลัฏฐิวัน คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน

     สวนสมุนไพร มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน

     กิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นในพุทธมณฑล กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันที่เป็นประเพณี มีกิจกรรเช่นวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง มีกิจกรรมเลี้ยงพระเพลถวายสังฆทาน และฟังเทศน์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประชุมสัมนาพระสังฆาธิการ กิจกรรมประทานพัดยศโดยสมเด็จพระสังฆราช จัดกิจกรรมนอกสถานศึกษาของวัดและโรงเรียน และที่ผมส่งเสริมอย่างยิ่ง อยากเห็นคนไปเที่ยว ไปชมไปนมัสการพระประธานพุทธมณฑล ไปเยี่ยมชมบริเวณทั่วพุทธมณฑล ไปกันให้มากกว่านี้เหมือนผมเชียร์ให้ไปเที่ยวสวนรถไฟ ที่อยู่ติดกับสวนจตุจักร และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประชาชนยังใช้พื้นที่ในพุทธมณฑลกันน้อยไป ยากที่จะหาสวนใดในโลกนี้ที่จะมีความสมบูรณ์เท่าสวนพุทธมณฑล "โดยเฉพาะสำหรับเราชาวพุทธ"


ผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งความจำนงได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล
โทร. 0 2441 9012, 0 2441 9009, 0 2441 9801-2, 0 2441 9440

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย

นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน(อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ )เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม

 

ที่มา : http://www1.mod.go.th/heritage/nation/tour/monton1.htm

 

 การประชุมชาวพุทธนานาชาติลงมติเลือกพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก
ที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ เตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก

ที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ วันนี้(19 พ.ค.) เวลา 09.00 น. พระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ จาก 42 ประเทศ จำนวน1600 รูป/คน เข้าร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2548 โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุม ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ได้อ่านสารจากนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้มีการจัดการประชุมชาวพุทธฯ ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญในหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นองค์ความรู้นำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน

นายคิม ฮัก ซู รองเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และเลขาธิการผู้บริหาร UNESCAP ได้อ่านสารจากนายโค ฟี่ อนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดไปกว่า 60 ปีแล้ว แต่ปัญหาความยากจนความอดยากยังคงมีอยู่ ซึ่งการจัดงานวันวิสาขบูชา มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับองค์การสหประชาชาติ คือ การเสริมสร้างความเข้าในระหว่างบุคคล การแสวงหาการเป็นเอกภาพและการส่งเสริมสันติสุข ซึ่งหวังว่าการจัดงานดังกล่าวจะเป็นการร่วมกันแสวงหาและสรรสร้างวิธีการกำจัดปัญหาความยากจน ความปลอดภัย โดยองค์รวมที่สามารถรับมือก่อการร้ายในปัจจุบันรวมถึงวิธีการเพิ่มความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวการจัดงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชาในประเทศไทยปีนี้ว่า เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในสองฝ่าย คือ การที่พระพุทธศาสนาทั้ง 2 ฝ่าย มหายาน เช่น จีน ญี่ปุ่น และเถรวาท เช่น ไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา ได้ร่วมกันจัดงานเป็นปีแรก และเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันที่องค์การสหประชาชาติได้เปิดให้ใช้สถานที่และส่งผู้แทนคนสำคัญ เช่น นายคิม ฮัก ซู มาร่วมในงานนี้ เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2542

“การที่นิกายมหายานและเถรวาทไม่ได้มีการจัดงานวิสาขบูชาร่วมกันมาก่อนเนื่องจากการนับวันเกิดของพระพุทธเจ้าไม่ตรงกัน ทางนิกายมหายานจะนับแบบสุริยคติ ซึ่งจะประมาณต้นเดือนเมษายน ขณะที่เถรวาทจะนับแบบจันทรคติ ซึ่งจะประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งครั้งนี้ต้องขอบคุณความใจกว้างของมหายาน ที่จริงได้จัดงานดังกล่าวไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ก็ยังมาร่วมจัดงานอีกครั้งในประเทศไทย เพื่อเป็นการแสดงให้องค์การสหประชาชาติและชาวโลกได้รับรู้ถึงพลังแห่งชาวพุทธ ที่มุ่งไปสู่การสร้างสันติภาพ” พระเทพโสภณ กล่าว

ส่วนทางด้าน พระ ชิน ติ้ง จากสำนักโฝว กวง ซัน ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกทั้งมหายานและเถรวาท โดยใช้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางประชุม ในขณะที่ประเทศจีนควรเป็นศูนย์กลางของพุทธฝ่ายมหายาน อย่างไรก็ตามในการประชุมวันพรุ่งนี้จะมีการลงมติผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนของโลก

ในการประชุมชาวพุทธฯ ได้มีการสรุปสุนทรพจน์ของผู้นำชาวพุทธ อาทิ พระญาณนิสะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ประเทศพม่า เรื่องจากองค์การสหประชาชาติมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาวเอเชียเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นผู้แทนแห่งสันติภาพของโลก เพราะศาสนาพุทธ เน้นในเรื่องของความเมตตาและความรัก ในขณะที่ พระธีธรรมรัตนะ จากประเทศศรีลังกา กล่าวว่า การจัดงานร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลกจะเป็นการขจัดความขัดแย้งและนำสันติภาพมาสู่โลก เพราะจะเป็นการลดความไม่เข้าใจระหว่างกันได้ นอกจากนี้ พระจู่ เฉิง เลขาธิการพุทธสมาคมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าวพร้อม นาย เย่ เสี่ยว เหวิง รัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมของจีน ซึ่งทั้ง 2 คน ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างมาก เนื่องจากพระจู่ เฉิง เป็นเลขาขององค์กรพุทธศาสนามหายาน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชาชนนับถือกว่า 100 ล้านคน และเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกิจการศาสนาของประเทศจีนเดินทางมาไทย ซึ่งทั้ง 2 มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะต้องมีการจัดงานในลักษณะนี้ปีละ 1 ครั้ง ในประเทศไทย และในปีหน้า ทางการจีนจะเชิญสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ไปร่วมงานด้านพระพุทธศาสนาในประเทศจีน


ผลการประชุม


การประชุมชาวพุทธนานาชาติมีมติให้ "พุทธมณฑล" เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย