วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๑) กรุงเทพมหานคร





วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๑) กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2231
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2348


วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑

ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใด ๆ

เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กับอย่างไม่รู้จบสิ้น

วัดประจำรัชกาลที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

สำหรับ วัดประจำรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่จริงๆ แล้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังเท่านั้น ส่วนวัดประจำรัชกาลที่ ๑ จริงๆ แล้วก็คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” วัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่

“วัดโพธิ์” หรือมีนามทางราชการว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ครั้นมาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง วัดโพธารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ภายหลังวัดแห่งนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๑

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอารามหลวงแห่งนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาว แบ่งเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสแยกจากกันไว้อย่างชัดเจน

มีหลักฐานปรากฏใน ‘ศิลาจารึกวัดโพธิ์’ ไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าแก่ขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ส่วนด้านใต้ คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่ฝีมือเยี่ยม มาร่วมอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อสถาปนาให้เป็นวัดหลวง โดยเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลาถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จและโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๔ แล้วพระราชทานนาม “วัดโพธาราม” ใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ , พระพุทธไสยาส •


{ 9 สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ }


{ พระอุโบสถ }
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร (ปางสมาธิ สื่อถึงการตั้งจิตมั่นแน่วแน่)


{ พระพุทธเทวปฏิมากร }
พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมพระพุทธปฏิมาองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้าหรือวัดคูหาสวรรค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่ ครั้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธเทวปฏิมากรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้พร้อมทั้งยังได้ทรงถวายนามใหม่ว่า "พระพุทธเทวปฏิมากร"


{ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล }
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ (กลาง) , พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน (ซ้าย) ,พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร (ขวา) และพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย (หน้า)
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูมีลักษณะเป็นไทยประยุกต์แบบจีน โดยจะมีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละ 1 คู่ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ


{ พระพุทธไสยาส }
พระพุทธไสยาส หรือที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสภายในเขตพุทธาวาส บริเวณมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ขนาดองค์พระยาว ๑ เส้น ๓ วา (๔๖ เมตร) สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา ๑๕ เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว ๑๐ ศอก (๕ เมตร) กว้าง ๕ ศอก (๒.๕๐ เมตร) พระพุทธบาท ยาว ๕ เมตร สูง ๓ เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ จ.ศ.๑๑๙๓ พ.ศ.๒๓๗๕ จัดว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ
พระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามโดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่มีความงดงามเป็นเอกในบรรดาพระนอนด้วยกันเป็นที่เคารพสักการะ เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นพระพุทธปฏิมากรสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทั้งยังนับเนื่องอยู่ในคติการไหว้พระ ๙ วัด ของพุทธศาสนิกชน โดยมีคติว่าจะได้ ร่มเย็นเป็นสุข


{ พระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) }


{ ยักษ์วัดโพธิ์ }
ยักษ์วัดโพธิ์นั้นตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ ลั่นถัน นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดแจ้งกลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา




ที่มา : http://www.watpho.com/

11,947







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย