วัดโปรดเกศเชษฐาราม


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2365
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2368


วัดโปรดเกศเชษฐาราม

สมุทรปราการ


วัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวง ตำบลทรงคนอง อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
Wat Prodket Chettharam, Song Khanong Subdistrict, Phra Pradaeng District, Samut Prakan

“สักการะบูชาพระพุทธไสยาสน์ ชมมณฑปกลางน้ำ สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ พระวิหาร กิจกรรมไทยโบราณ ปฏิบัติธรรม วัดคู่บ้านคู่เมืองนครเขื่อนขันธ์”

ที่ตั้งวัดโปรเกศเชษฐาราม ตำบลทรงคนอง อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
เบอร์โทรติดต่อสำหรับบวชชีพราหมณ์ 5-7 วัน โทร. 02- 4625484, 02-4634584

ประวัติวัดโปรดเกศเชษฐาราม
วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สามัญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของคลองลัดหลวง ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามทางทิศใต้ประมาณ 7 เส้นเศษ ตำบลทรงคนอง (เดิมเป็นตำบลเชียงใหม่) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดที่มีภูมิสถาปัตยกรรมงดงาม มีมณฑปสร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นศรีสง่า แปลกตา ตัวอาคาร พระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะต่าง ๆ มีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นวัดที่อยู่คู่กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือเมืองปากลัด ตามที่เรียกกันมาแต่เดิม

ผู้เริ่มสร้างวัดนี้ คือ พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุล เกตุทัต ซึ่งเป็นบุตร ของเจ้าพระยาเพชรพิไชย (หง) ต้นสกุล หงสกุล สร้างเมื่อปี มะเมีย พ.ศ. 2365

ประวัติของวัดนี้ มีเรื่องราวปรากฏอยู่ ในหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ของสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ในคราวเมื่อสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการนั้น ทรงพระดำริว่า ป้อมที่สร้างขึ้นที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่ก่อนยังคงค้างอยู่ไม่สำเร็จสมบูรณ์ จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เป็นแม่กองทำการสร้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ยังค้าง และได้สร้างป้อมหนึ่งชื่อว่า ป้อมเพชรหึงส์ ได้ขุดคลองลัดหลวง หลังเมืองนครเขื่อนขันธ์คลองหนึ่ง มาทะลุออกคลองตาลาว”

คลองลัดที่ขุดใหม่นั้น ขุดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2362 ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “คลองลัดหลวง” เมื่อขุดคลองเสร็จแล้ว กรมหมื่นศักดิพลเสพ ได้ทรงสร้างวัดขึ้นอยู่ฝั่งตะวันตก ของคลองที่ขุดใหม่นี้วัดหนึ่ง พระราชนามว่า “วัดไพชยนต์พลเสพ”

สมัยนั้น พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) เป็นพระพี่เลี้ยงของกรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งท่านเป็นนายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และเป็นนายงานสร้างวัดไพชยนต์พลเสพด้วย ได้ขออนุญาตสร้างวัดนี้ขึ้น เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2365 พวกรามัญตลอดจนชาวปากลัด มักจะเรียกวัดโปรดเกศฯ ติดปากว่า “วัดปากคลอง” จนทุกวันนี้ ก็เพราะเดิมทีมีศาลาอยู่หลังหนึ่ง ติดกับปากคลองทองเมือง คือ เขตทิศเหนือของวัดเวลานี้ ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย มีแต่พระพุทธรูปเท่านั้น หลังจากได้สร้างวัดนี้ขึ้น แต่พวกชาวบ้านเขาเรียกกันว่า “วัดปากคลอง” อยู่อย่างเดิม

วัดนี้ จะได้รับพระราชทานชื่อว่าอะไร เมื่อไรไม่มีหลักฐานยืนยัน นอกจากจะสันนิษฐานว่าคงจะเป็นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะการสร้างวัดในสมัยนั้น เป็นพระราชนิยมอย่างยิ่ง จนมีคำกล่าวว่า “พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดนักรบ รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดคนเป็นกวี รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดคนสร้างวัด” สมัยนั้น จึงมีคนนิยมสร้างวัดกันเป็นจำนวนมาก วัดใดที่สร้างอยู่ในเกณฑ์ ก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

วัดโปรดเกศฯ ก็คงได้เป็นพระอารามหลวงในยุคนั้น ส่วนชื่อวัดคงยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า ได้รับพระราชทานเมื่อไร ชื่อวัดจึงมีการเขียนขึ้นหลายแบบ เช่น
วัดโปรดเกตุเชษฐาราม
วัดโปรดเกษเชษฐาราม
วัดโปรดเกศเชฏฐาราม
วัดโปรดเกศเชษฐาราม

เรื่องการเขียนชื่อวัดนี้ คงจะเขียนขึ้นตามความเข้าใจยึดในความหมายที่ว่า ผู้สร้างวัดนี้เป็นพี่เลี้ยง คำว่า “เชฏฐ” เป็นชื่อเดือน ๗ ตามจันทรคติ และยังแปลว่า “พี่” หรือ “ผู้เจริญที่สุด” ตามภาษาบาลี ภาษาไทยเขียนว่า “เชษฐ” หรือ “เชษฐา”
   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธชินนาถศาสดา •


ในการก่อสร้าง วัดโปรดเกศเชษฐาราม ครั้งแรกปรากฏว่า มีเพียงพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ พระเจดีย์ใหญ่ 2 องค์ และหอระฆัง และเสนาสนะ ที่อยู่ของสงฆ์อีกสองคณะ ภายในบริเวณและพระอุโบสถ และพระวิหารปูด้วยกระเบื้องหน้าวัว มีแท่นสำหรับนั่งเล่น สามแท่น ก่ออิฐ ถือปูน พื้นปูด้วยหินอ่อน ส่วนมณฑปนั้นทราบว่า ยังสร้างไม่เสร็จ และคงจะสำเร็จในยุคต่อมา

ในสมัยนี้ วัดเป็นที่นิยมในการศึกษาหาความรู้ของชาวบ้านและเป็นหลาย ๆ อย่างที่ชาวบ้านต้องการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลสถิตยุติธรรม วัดโปรดเกศเชษฐาราม ก็มีพร้อมทุกประการ พระสงฆ์มีหน้าที่ ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆ กัน เช่น พระต้องเป็นหมอรักษาโรคทางใจ คือ สอนธรรมะ รักษาโรคทางกาย คือ หมอยาแผนโบราณ นอกจากนี้ยังเป็นหมอดูรักษา ศรัทธาและความสบายใจ แก่ชาวบ้าน เช่น เป็นผู้ให้ฤกษ์ยาม เป็นผู้พิพากษาคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น
   

ในสมัยพระปัญญาพิศาลเถร (สุก) เป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระราชทรัพย์ให้พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) มาสร้างกุฏิอีกคณะหนึ่ง แถบบริเวณริมคลองลัดหลวง และได้สร้างหอสวดมนต์ 1 หลัง หอฉัน 1 หลัง กับกุฏิอีก 7 หลัง สร้างแบบฝากระดานไม้สัก มุงด้วยกระเบื้องไทยทั้งสิ้น
   


ในสมัยพระครูวินยาบูรณาจารย์ (คำ) เป็นเจ้าอาวาส พระยาเพชรพิไชย (หนู) บุตรพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ได้สร้างและปฏิสังขรณ์ ผนังพระอุโบสถหลังใหม่ และเขียนลายเพดาน เพราะเดิมไม่ได้เขียนไว้ กับได้ปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์ ในพระวิหาร สร้างเขื่อนรอบสระพระมณฑป เพราะของเดิมสร้างไว้เป็นเขื่อนไม้ และยังได้ปฏิสังขรณ์ อย่างอื่นอีกมากมายทั่วพระอาราม

   

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถา ประดับเครื่องลายคราม ภายในประดับด้วยภาพวาดศิลปะแบบตะวันตก ฝีมือของขรัวอินโข่ง พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธชินนาถศาสดา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย รัชกาลที่ 9 เป็นผู้พระราชทานนาม ส่วนพระวิหารมีลักษณะการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาท 16 วา 2 ศอก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง
   

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งในปี พ.ศ.2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธชินนาถศาสดา” มีความหมายว่า พระศาสดาที่ทรงเป็นที่พึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ พุทธลักษณะปางมารวิชัย หนัาตัก 2 ศอก 1 นิ้ว (ประมาณ 1.2 เมตร) ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูงที่ทำจากกระเบื้องเคลือบแบบดั้งเดิม ภายในบุษบกลวดลายสวยงาม ด้านหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร อยู่ในอริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) อยู่หลายองค์ ผนังด้านหลังพระประธาน เยื้องไปทางซ้ายและขวา เจาะผนังเป็นช่องลึกทรงสูง ด้านในเป็นปูนปั้นอัครสาวกแบบลอยตัว ยืนพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน
   

ภายในโบสถ์ไม่มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเต็มผนังเหมือนโบสถ์อื่นทั่วไป แต่จะใช้วิธีเจาะช่องกำแพง และวาดภาพพุทธสาวก ภิกษุ ภิกษุณี ไว้ในช่องเหล่านั้นแทน เหนือบานประตูหน้าต่าง ยังประดับด้วยภาพเขียนเก่าใส่กรอบ เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น แบบเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) ให้ความรู้สีกเป็น 3 มิติ ในภาพแสดงทัศนียภาพอาคารบ้านเรือนแบบชาวตะวันตก เป็นภาพเก่าที่หาดูได้ยาก เสาภายในพระอุโบสถ เป็นเสาลอยทรงสี่เหลี่ยมลบมุม เสาแต่ละต้นติดภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์
   

 10,578


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย