วัดพญาภู


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 1949
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2461


วัดพญาภู

น่าน


วัดพญาภู เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด สามัญ
ตั้งอยู่เลขที่ ๕ ถนนสุมนเทวราช หมู่ที่ ๕ ตำบล ในเวียง อำเภอ เมือง จังหวัด น่าน
สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๑๘ ตารางวา
ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๖ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๗.๖ เมตร ยาว ๑๗.๕ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

วัดพญาภู ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๖ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีความสำคัญของจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวไว้ว่าพระยาภูเข็ง (พญาภู) แห่งราชวงศ์ภูคา ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมืองน่าน ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๕๐–๑๙๖๐ ได้สร้างวัดพญาภูขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๖ ต่อมาเจ้าผู้ครองเมืองน่านทุกพระองค์ได้ให้ความอุปถัมภ์วัดพญาภูตลอดมา จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๐๐ พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองเมืองน่าน ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพญาภู เช่น บูรณะ พระเจดีย์ ซึ่งก่ออิฐถือปูน เป็นเจดีย์โบราณ ขนาดฐานกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๒๕ เมตร ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ วัดพญาภู ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอนที่ ๖๕ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๘๗ เลขที่ ๑๑
จากตำนานการสร้างวัดพญาภู ซึ่งพระชยานันทมุนี (พรหม พฺรหฺมโชโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดน่าน วัดกู่คำ ได้แปลจากต้นฉบับอักษรพื้นเมือง (ประชุมตำนานล้านนาไทย) และได้ถอดข้อความเดิม ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. ๑๙๕๖ พระยาภูเข็ง เจ้าผู้ครองเมืองน่านในสมัยนั้นได้ทราบข่าวว่า ฮ่อ-แมนตาตอก (ชาวฮ่อ) ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองล้านนา เป็นเหตุให้พระองค์ทรงร้อนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองประชาชนในจังหวัดน่าน ให้สงบร่มรื่นพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย
ในขณะนั้นมีพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับทราบตำนานพระธาตุเจ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดน่านอันได้นำมาจากเมืองลังกา จึงได้เดินทางมาบูชาพระธาตุเขาน้อย พระธาตุกู่คำ พระธาตุแช่แห้ง และวัดสวนตาล พระยาภูเข็งได้ทราบข่าวการมาของพระมหาเถรเจ้าองค์นี้ จึงได้ให้คนไปนิมนต์พระมหาเถรเจ้าองค์นั้นเข้ามาสู่โรงหลวง และได้เล่าว่าขณะนี้มีฮ่อแมนตาตอกได้ยกทัพมาตีหัวเมืองล้านนานคือ เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองลอ เมืองเทิง เมืองพะเยา และอาจมาตีเมืองน่านด้วย จึงใคร่ขอความเมตตาจากพระมหาเถรเจ้า ได้เป็นที่พึ่งพิงและปกป้องประชาชนชาวเมืองน่านให้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ด้วย
พระมหาเถรเจ้า จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานแล้วกล่าวว่า “เมืองน่านของพระองค์ท่านนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว ไม่ควรที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของผู้ใด” พระมหาเถรเจ้าจึงกล่าวกับ พระยาภูเข็งว่า ถ้าต้องการให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรูก็ขอให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งนอนขวางเมืองไว้ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง (ปัจจุบันคือพระไสยาสน์ในวิหารพระนอนวัดพระธาตุแช่แห้ง) และสำหรับในตัวเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้นให้สร้างพระเจดีย์ธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่ง (ปัจจุบันคือเจดีย์วัดพญาภู) พระยาภูเข็ง จึงได้สร้างพระนอนและพระเจดีย์ธาตุขึ้นตามคำแนะนำของพระมหาเถรเจ้าองค์นั้น
ในการสร้างพระเจดีย์ธาตุวัดพญาภูนั้น พระยาภูเข็งรับคำแนะนำจากพระมหาเถรเจ้าให้จัดธูปเทียนอย่างละ ๘ คู่ แล้วตั้งจิตอธิษฐานอันเชิญพระธาตุแห่งพระสัพพัญญู โคตมะเจ้าให้มาประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ ในขณะเดียวกันนั้นพระธาตุแห่งพระสัพพัญญูโคตมะเจ้าก็ได้เสด็จมาทางอากาศ ๔ องค์ใหญ่ เท่าถั่วหักมีสีต่างๆ กัน คือ สีแดง สีเหลือง สีขาว และสีเขียว ตั้งอยู่บนขันนั้น ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง และพระธาตุทั้ง ๔ องค์นั้นก็แสดงปาฏิหาริย์ปรากฏขึ้น คือพระธาตุได้เปล่งแสง สว่างไสวไปทั่วเมือง ถือเป็นเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
พระยาภูเข็งจึงโปรดให้สร้างสถูปใส่พระธาตุเข้าแล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เสร็จแล้วก็จัดให้มีการฉลองสมโภชองค์พระธาตุเจดีย์นั้น โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญปริตมงคลถวายไทยทาน ในกลางคืนทีมีการฉลองสมโภชองค์พระเจดีย์นั้น โดยเดชานุภาพของพระพุทธรูปไสยาสน์ วัดพระธาตุแช่แห้งและพระธาตุเจ้าเจดีย์วัดพญาภู ก็บังเกิดเป็นพายุใหญ่ฝนฟ้าคะนอง เกิดฟ้าผ่าลงกลางกองทัพฮ่อแมนตาตอกไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้ จึงแตกกระจัดกระจายหนีไปในกลางคืนนั้น พระยาภูเข็งได้ให้ผู้คนไปขนเอาศาสตราวุธ ม้าลา ของกองทัพฮ่อแมนตาตอกเข้ามาไว้ในเมืองหมด ตั้งแต่นั้นมาบ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยไม่มีข้าศึกศัตรูเข้ามารุกรานอีก

   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพญาภู •


พระอุโบสถ   

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะพระเศียร พระพักตร์ และพระวรกาย ไม่ได้สัดส่วน เฉพาะแนวขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์และเส้นขอบจีวรที่พาดผ่านข้อพระกรซ้ายไปยังพระเพราคงได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพญาวัด ส่วนปลายชายจีวรที่มีการตกแต่งรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นด้วยลายดอกไม้คล้ายคลึงกับกรอบลายก้ามปู สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างพื้นเมืองที่ทำขึ้นระยะหลังระหว่างปลายพุทธศตรรรษที่ 23 หรือต้นศตวรรษที่ 24   

ประตูพระอุโบสถ   

พระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างไว้ด้านหลังพระวิหาร   

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย จำนวน 2 องค์ ซึ่งที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกว่า สร้างโดย พญาสารผาสุม ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร    

พระวิหาร   

ซุ้มประตูทางเข้าวัด   

พระเจดีย์พระธาตุเจ้าพญาภู   

วัดพญาภู   

- เจ้าอาวาส -
• พระราชศาสนาภิบาล (ดิเรก วชิรปญฺโญ ป.ธ.๙) •


 10,410


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย