พระโสดาบัน และ บารมี

 เซนทฺ    

ปัจจุบันนี้การเป็นพระโสดาบัน สามารถเป็นได้ไหม และรู้อย่างไรว่าเป็นถึงขั้นพระโสดาบันแล้วครับ


พระโสดาบัน ใช่ ธรรมจักษุ หรือเปล่าครับ


การสร้างบารมี เขาทำกันอย่างไรครับ ทั้งในทางพระ และบุคคลทั่วไปครับ ได้ยินเขาพูดกันบ่อยๆ สงสัยครับ   




ปัจจุบันนี้การเป็นพระโสดาบัน สามารถเป็นได้ไหม และรู้อย่างไรว่าเป็นถึงขั้นพระโสดาบันแล้วครับ

ไม่ว่าหญิงหรือชาย รวยหรือจน เด็กหรือผู้ใหญ่ นับถือศาสนาใดก็ตาม
ถ้าปฏิบัติตามแนวทางแห่งมรรคมีองค์ 8 แล้วล่ะก็ ทุกคนสมารถเป็นพระโสดาบันได้เจ้าค่ะ

[๒๔๑] องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นนายสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ฯ

๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ

๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญเขตของชาวโลก ไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า ฯ

๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้ารักใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิ ไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ฯ



หน้าที่ของชาวพุทธคือการทำกิจ ๔ ประการนี้เจ้าค่ะ
คำว่า ศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ ฯ คืออย่างนี้เจ้าค่ะ


โลกุตตรกุศลจิต
มรรคจิตดวงที่ ๑ ( โสดาปัตติมัคค )
[๑๙๖] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?
โยคาวจรบุคคล เจริญฌานเป็นโลกุตตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนำไปสู่นิพพาน
เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ในสมัยใด

ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อนภิชฌา อัพยาปาทะ สัมมาทิฏฐิ หิริ โอตตัปปะ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกตา สติ สัมปชัญญะ สมถะ วิปัสสนา ปัคคาหะ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น หรือนามธรรมที่อิงอาศัย เกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล ( โสดาปัตติมัคค )



( โสดาปัตติผล ) [๔๓๔] ธรรมเป็นอัพยากฤต เป็นไฉน?
โยคาวจรบุคคล เจริญฌานเป็นโลกุตตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนำไปสู่นิพพาน
เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้นบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ
บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุปัญจมฌาน ชนิดสุญญตะ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด

ดังนี้ กุศล ฯลฯ ชนิดสุญญตะ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ดังนี้ วิบาก ฯลฯ ชนิดสุญญตะ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

ดังนี้ กุศล ฯลฯ ชนิดอนิมิตตะ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ดังนี้ วิบาก ฯลฯ ชนิดอนิมิตตะเป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

ดังนี้ กุศล ฯลฯ ชนิดอัปปณิหิตะ เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ดังนี้ วิบาก ผัสสะ ฯลฯ ชนิดอัปปณิหิตะ ฯลฯอวิกเขปะ มีในสมัยนั้น ฯลฯ
สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นอัพยากฤต. ( โสดาปัตติผล )

พระโสดาบันเริ่มต้นด้วยเหตุคือปฐมฌานในโสดาปัตติมัคค
โสดาปัตติผลย่อมมีผลเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปฐมฌาน-ปัญจมฌาน



รู้อย่างไรว่าเป็นถึงขั้นพระโสดาบันแล้ว ?


ปีติ สุข และอุเบกขาจากโลกุตตระฌานในโสดาปัตติผลเป็นองค์ธรรมชี้วัดการบรรลุธรรมเจ้าค่ะ เริ่มด้วยโลกุตตระฌาน ผลย่อมเป็นโลกุตตระฌาน มีฌานเป็นปทัฏฐานของการบรรลุมัคคผลเจ้าค่ะ.


พระโสดาบัน ใช่ ธรรมจักษุ หรือเปล่าครับ ?

ธรรมจักษุ คือลักษณะอย่างนี้เจ้าค่ะ

[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.


อย่างนี้เรียกว่า ธรรมจักษุ เจ้าค่ะ





การสร้างบารมี เขาทำกันอย่างไรครับ ทั้งในทางพระ และบุคคลทั่วไปครับ ได้ยินเขาพูดกันบ่อยๆ สงสัยครับ


โดย : เซนทฺ [DT08728] 13 ม.ค. 2552 23:03 น.



1. เป็นพระภิกษุ การรับของจากโยมแต่น้อยพอดีพอใช้คือการให้เป็นทานบารมี การแสดงธรรมคืออริยะสัจ 4 แก่โยมเป็นธรรมทาน ก็เป็นทานบารมีเจ้าค่ะ

2.การสำรวมกาย วาจา ใจ คือศีลบารมีเจ้าค่ะ

3.การบรรลุฌานสมาบัติ 8 การบรรลุมัคค 4 ผล 4 เป็นเนกขัมมะบารมีเจ้าค่ะ

4.การกำจัดนิวรณ์ 5 และกามสัญญาทั้งหลายด้วยฌานสมาบัติ 8 การกำจัดกิเลสสังโยชน์ด้วยอริยะมัคค 4 เรียกว่าปัญญาบารมีเจ้าค่ะ

5.การยังกุศลจิตคือฌานสมาบัติ 8 และอริยะมัคค 4 ที่ไม่เกิดขึ้นให้บังเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เรียกว่า วิริยะบารมีคือความเพียรเจ้าค่ะ

6.การข่มนิวรณ์ 5 ด้วยฌานสมาบัติ 8 และกำจัดกิเลสสังโยชน์ให้หมดสิ้นด้วยอริยะมัคค 4 จิตนั้นไม่ฟุบลงด้วยอำนาจของความเกียจคร้าน ไม่ฟูขึ้นด้วยอำนาจยั่วยวนของกิเลส เรียกว่า ขันติบารมีเจ้าค่ะ

7.การเจริญสมถะวิปัสสนาในอริยะสัจ 4 โดยมีฌาน 4 เป็นบาทเพื่อทำเหตุให้ตรงกับผล เพื่อบรรลุโลกียะฌาน 8 หรือบรรลุโลกุตตระฌาน 4 เรียกว่า สัจจะบารมีเจ้าค่ะ

8.การตั้งความปรารถนาอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้า เพื่ออบรมจิตด้วยปัญญาเครื่องเผากิเลส ให้บรรลุฌานสมาบัติ 8 ให้บรรลุมัคค 4 ผล 4 ที่ยังไม่บรรลุให้บรรลุให้ได้สำเร็จ เรียกว่า อธิษฐานบารมีเจ้าค่ะ

9.การเจริญฌานสมาบัติ 8 อันประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 เรียกว่า เมตตาบารมีเจ้าค่ะ

10.การเข้าฌานสมาบัติ 8 บ่อย ๆ การเข้าผลสมาบัติ 4 บ่อย ๆ การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ่อย ๆ เพื่อให้จิตนั้นสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เรียกว่า อุเบกขาบารมีเจ้าค่ะ



เจริญในธรรมเจ้าค่ะ.


• ดนตรีที่ผ่อนคลายช่วยลดความเครียดความวิตกกังวลและความซึมเศร้า🌿รักษาจิตใจร่างกายและจิตวิญญาณ

• "ปฏิบัติให้เป็นเหมือนกับสายน้ำ" (หลวงปู่ชา สุภัทฺโท)

• "ศีลทำให้มุษย์เป็นเทวดา" (หลวงปู่ขาว อนาลโย)

• เปิดรับสมัคร บวชชี ฟรี 2567 ไม่เสียค่าใช้จ่าย สายปฏิบัติ กรรมฐาน พระป่า สายหลวงปู่มั่น เน้นปฏิบัติภาวนา

• ขอเชิญทุกท่านเข้าพรรษาทำบุญให้กับตัวเองทุกวัน

• "ศีล ปราบกิเลสอย่างหยาบ" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย