ทรงแสวงหาโมกขธรรม และทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ต่อมาพระสิทธัตถะได้เสด็จออกจากอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ แล้วไปยังที่ต่างๆ จนถึงเขตกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม (ความพ้นทุกข์) ครั้งเสด็จเข้าไปอบรมศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และสำนักอุทกดาบสรามบุตร ทรงเห็นว่าลัทธิของ ๒ สำนักนั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ใด จึงทรงอำลาจากสำนักดาบสทั้งสองนั้นเสด็จจารึกแสวงหาโมกขธรรมต่อไปจนถึง ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันมีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่าน ได้ประทับอยู่ในป่า ณ ตำบลนี้ ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยประการต่างๆ อย่างเคร่งครัดแต่ก็ไม่ทรงพบทางพ้นทุกข์ได้ ในเวลานั้น พวกปัญจวัคคีย์ คือ ภิกษุ ๕ รูป อันได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ
และอัสสชิ มีความเลื่อมใสในพระสิทธัตถะด้วยเชื่อว่าพระองค์จนได้สำเร็จ เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้พากันมาเฝ้าปฏิบัติพระองค์ด้วยความเคารพ
ตรัสรู้ นับแต่ปีที่ทรงผนวชถึงปีที่ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเคร่งครัดนั้น
เป็นเวลา ๖ ปี แล้ว พระสิทธัตถะทรงแน่พระทัยว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่
และประกอบกับเวลานั้น ท้าวสักกะได้เสด็จมาเฝ้า ทรงดีดพิณ
๓ สายถวายคือ สายหนึ่งตึงเกินไปมักขาด สายหนึ่งหย่อนเกินไปเสียงไม่เพราะ
สายหนึ่งพอดี เสียงไพเราะยิ่งทำให้พระสิทธัตถะแน่พระทัยยิ่งขึ้นว่า
การทำความเพียรเคร่งครัดเกินไปนั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อย่างแน่แท้
พระองค์จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางใจอันได้แก่
สมถะ (ความสงบ) วิปัสสนา (ปัญญา) โดยทรงเริ่มเสวยพระกระยาหาร
ตามปกติ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นดังนั้น จึงคลายศรัทธาเลิกเฝ้าปฏิบัติ
แล้วพากันไปอยู่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เป็นเหตุให้พระองค์ประทับอยู่แต่พระองค์เดียว ทำให้ได้รับความวิเวกยิ่งขึ้น
ทรงเริ่มบำเพ็ญทางใจ ณ ภายใต้ต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่ง
ครั้นอยู่ต่อมาถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
เวลาเช้า พระองค์เสด็จไปประทับที่โคนต้นไทรต้นหนึ่ง ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา
เวลานั้นนางสุชาดา ธิดาสาวของกฎุมพีนายบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา
ได้จัดข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำ นำไปบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทรนั้นตามลัทธินิยมของตน
ครั้นเห็นพระสิทธัตถะประทับนั่งอยู่ก็เข้าใจว่าเป็นเทวดาจึงน้อมถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองคำ
แล้วหลีกไป พระสิทธัตถะทรงรับข้าวมธุปายาสแล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงสรงสนานพระวรกาย แล้วเสวยข้าวมธุปายาสแล้วทรงลอยถาดลงในกระแสแม่น้ำเนรัญชรา
ครั้นแล้วแล้วจึงเสด็จไปประทับในดงไม้สาละใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
ครั้นย่างเข้ายามเย็น พระสิทธัตถะก็เสด็จจากป่าสาละไปยังต้นอัสสัตถพฤกษ์(มหาโพธิ)ต้นหนึ่ง
ซึ่งอยู่ริมฝั่งที่โค้งแม่น้ำเนรัญชราฝั่งตะวันตก ระหว่างทางทรงรับฟ่อนหญ้าคาที่คนหาบหญ้าขายชื่อ
โสตถิยะน้อมถวาย ๘ ฟ่อน ทรงนำไปปูลาดเป็นบัลลังก์ที่ควงไม้มหาโพธินั้น
แล้วประทับลงบนบัลลังก์นั้น ผินพระพักต์ไปทางทิศตะวันออก
ทางแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ คือ ทรงเจริญสมถะและวิปัสสนาได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในยามสุดท้ายแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
ครั้นตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่
๗ สัปดาห์ ในสถานที่ทั้ง๗ แห่ง แห่งละสัปดาห์คือที่ต้นมหาโพธิ
ที่อนิมิสเจดีย์ ที่รัตนจงกรมเจดีย์ ที่รัตนฆรเจดีย์ ที่ต้นอชปาลนิโครธ
ที่ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) และ ที่ต้นราชาตนะ (ต้นเกด) ตามลำดับ
ในสัปดาห์ที่ ๕ ระหว่างเวลาที่ประทับอยู่ที่ต้นอชาปาลนิโครธนั้น
พระพุทธองค์ทรงแก้ปัญหาพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามปัญหาเรื่องความเป็นพราหมณ์
และมีพระธิดาพญามารทั้ง ๓ คือ นางตัญหา นางราคา และนางจรตี
ได้มาทำการยั่วยวนพระองค์ให้ทรงหันไปลุ่มหลงในทางโลก แต่ไม่เป็นผล
ในสัปดาห์ที่ ๖ ระหว่างแวะประทับอยู่ที่ใต้ต้นมุจลินท์นั้น
มีฝนตกตลอดสัปดาห์ พญานาคชื่อ มุจลินท์ ได้มาถวายอารักขา
ป้องกันพระองค์มิให้เปียกฝน และมิให้กระทบลมหนาว ในสัปดาห์ที่
๗ ระหว่างเวลาที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะนั้น มีพ่อค้า
๒ คน คือ ตะปุสสะ กับ ภัลลิกะ ได้ถวายข้าวสัตถุก้อนและสัตถุผงแก่พระพุทธองค์
และมีความเลื่อมใสได้ประกาศตน เป็นอุบาสก ถือพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะ
นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา
ทรงแสดงปฐมเทศนา และได้เป็นปฐมสาวก ครั้นต่อมาถึงตอนเย็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอาสาฬหะ
(เดือน ๘) พระพุทธองค์ได้เสด็จจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคมถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี ในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา
คือ พระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง
๕ อันเป็นเทศนากัณฑ์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อจบเทศนาแล้ว
ท่านโกณฑัญญะ (อัญญาโกณฑัญญะ) ได้ธรรมจักษุ คือได้ดวงตาเห็นธรรม
อันได้แก่การได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และได้ขออุปสัมปทา
นับเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อแต่นั้นมาก็ทรงสั่งสอนท่านทั้ง
๔ จนได้บรรลุโสดาปัตติผล และได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทุกองค์
ต่อมาถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือนสาวนะ (เดือน ๙) พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดท่านทั้ง
๕ ในวันนั้น จึงนับเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก รวมทั้งพระพุทธ
องค์ด้วยเป็น ๖ องค์