ขจร - โขมทุสสนิคม
ขจร ฟุ้งไป, ไปในอากาศ
ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดีให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้ (ขั้นต่อไป คือ อุปจารสมาธิ)
ขณิกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะเมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ (ปีติ ๕ ข้อ ๒)
ขนบ แบบอย่างที่ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ
ขนบธรรมเนียม แบบอย่างที่นิยมกัน
ขนาบ กระหนาบ
ขมา ความอดโทษ, การยกโทษให้
ขรรค์ อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้ามสั้น
ขราพาธ อาพาธหนัก, ป่วยหนัก
ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือ ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่รับ (ธุดงค์ข้อ ๗)
ของต้องพิกัด ของเข้ากำหนดที่จะต้องเสียภาษี
ขอนิสัย ดู นิสัย
ขอโอกาสดู โอกาส
ขัชชภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่แจกของเคี้ยว
ขัณฑ์ ตอน, ท่อน, ส่วน, ชิ้น, จีวรมีขัณฑ์ ๕ ก็คือมี ๕ ชิ้น
ขัณฑสีมา สีมาเล็กผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา มีสีมันตริกคั่น
ขัดบัลลังก์ ดู บัลลังก์
ขัตติยธรรม หลักธรรมสำหรับกษัตริย์, ธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน
ขัตติยมหาสาล กษัตริย์ผู้มั่งคั่ง
ขันติ ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม
ขันธ์ กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง
คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)
ขันธกะ หมวด, พวก, ตอน หมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัย และสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ที่จัดประมวลเข้าเป็นหมวด ๆ เรียกว่า ขันธกะ, ขันธกะหนึ่ง ๆ ว่าด้วยเรื่องหนึ่ง ๆ เช่นอุโบสถขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยการทำอุโบสถ จีวรขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยจีวร เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี ๒๒ ขันธกะ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๔-๕-๖-๗) ดู ไตรปิฎก
ขันธปัญจก หมวดห้าแห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นิยมเรียก ขันธบัญจก)
ดู ขันธ์
ขันธมาร ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์
ถูกปัจจัยต่าง ๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (ข้อ ๒ ในมาร ๕)
ขาทนียะ ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น
ข้าวสุก ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิดที่หุงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น
ขิปปาภิญญา รู้ฉับพลัน
ขีณาสพ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว, ผู้หมดกิเลส, พระอรหันต์
ขึ้นใจ เจนใจ, จำได้แม่นยำ
ขึ้นปาก เจนปาก, คล่องปาก, ว่าปากเปล่าได้อย่างว่องไว
ขึ้นวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฎฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือเมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาสยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร
เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง ถ้าขึ้นปริวาสพึงกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า ปริวาสํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร ถ้าขึ้น มานัต พึงกล่าวว่า มานตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นมานัต หรือ วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร
ขุชชโสภิตะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชันน้ำตาไหล (ข้อ
๑ ในปีติ ๕)
เขต 1. แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น 2. ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อการลาสิกขา
เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
เขนง เขาสัตว์, ภาชนะที่ทำด้วยเขา
เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ
และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา
เขฬะ น้ำลาย
เข้าที่ นั่งภาวนากรรมฐาน
เข้ารีต เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น (มักใช้แก่ศาสนาคริสต์), ทำพิธีเข้าถือศาสนาอื่น
โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ใช้เปลือกไม้ทุบเอาแต่เส้น แล้วนำเส้นนั้นมาทอเป็นผ้า
โขมทุสสนิคม นิคมหนึ่งในแคว้นสักกะ