ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

หมวด กุฏิภัต - กุมารีภูตา


กุฏิภัต - กุมารีภูตา

กุฏิภัต อาหารที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฎีอันเขาสร้าง

กุฑวะ ชื่อมาตราตวง แปลว่า ฟายมือ คือ เต็มอุ้งมือหนึ่ง ดู มาตรา

กุณฑธานะ พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิง คนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไปท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม

กุณฑลเกสี ดู ภัททากุณฑลเกสา

กุปปธรรม ผู้มีธรรมที่ยังกำเริบได้หมายถึงผู้ที่ได้สมาบัติแล้วแต่ยังไม่ชำนาญ อาจเสื่อมได้

กุมมาส ขนมสด คือขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะบูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้าหลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส

กุมาร เด็ก, เด็กชาย, เด็กหนุ่ม

กุมารกัสสปะ พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ คลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณี แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ทารกนั้นได้นามว่า กัสสปะ ภายหลังเรียกกันว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านเป็นเด็กสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างราชกุมาร ท่านอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร

กุมารี เด็กหญิง, เด็กรุ่นสาว, นางสาว

กุมารีภูตวรรค ชื่อหมวดในพระวินัยปิฎก หมายถึงตอนอันว่าด้วยกุมารีภูตา คือสามเณรีผู้เตรียมจะอุปสมบทเป็น ภิกษุณี มีอยู่ในปาจิตติยกัณฑ์ ในภิกขุนีวิภังค์

กุมารีภูตา ผู้เป็นนางสาวแล้ว หมายถึงสามเณรีที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีเช่นในคำว่า “อีฉันเป็นนางสาว (กุมารีภูตา) ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๒๐ ปีเต็ม มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ๒ ปี ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์เจ้าข้า”




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย