มเหสี - มัชฌิมชนบท, มัชฌิมประเทศ
มเหสี 1. ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่, ฤษีใหญ่, พระพุทธเจ้า 2. ชายาของพระเจ้าแผ่นดิน
มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, หลู่ความดีของผู้อื่น (ข้อ ๕ ในอุปกิเลส ๑๖)
มักน้อย พอใจด้วยของเพียงน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (อัปปิจฉะ)
มักมาก โลภ, อยากได้มากๆ
มักใหญ่ อยากเป็นใหญ่เป็นโต เกินคุณธรรมและความสามารถของตน
มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค, ปัญญาสูงสุดที่กำจัดกิเลสเป็นเหตุให้บรรลุความเป็นอริยบุคคลชั้นหนึ่งๆ,
ดู ญาณ ๑๖
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง (ข้อ ๕ ในวิสุทธิ ๗)
มังคลัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์แห่งลานนาไทยรจนาขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำบรรยายของท่านเอง
มังสะ เนื้อ, ชิ้นเนื้อ
มังสจักขุ จักษุคือดวงตา เป็นคุณพิเศษของพระพุทธเจ้า คือ มีพระเนตรที่งาม แจ่มใส ไว และเห็นได้ชัดเจน แม้ในระยะไกล (ข้อ ๑ ในจักขุ ๕)
มังสวิรัติ การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ (เป็นคำบัญญัติภายหลัง)
มัจจุ, มัจจุราช ความตาย
มัจจุมาร ความตายเป็นมาร เพราะตัดโอกาสที่จะทำความดีเสียทั้งหมด (ข้อ ๕ ในมาร ๕)
มัจฉะ ชื่อแคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล อยู่ทิศใต้ของแคว้นสุรเสนะ นครหลวงชื่อ วิราฎ (บางแห่งว่าสาคละ แต่ความจริงสาคละเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัททะ)
มัจฉริยะ ความตระหนี, ความหวง (ข้อ ๔ ในมละ ๙), มัจฉริยะ ๕ คือ ๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
มัชชะ ของเมา, น้ำที่ทำผู้ดื่มให้เมา หมายถึงสุราและเมรัย
มัชฌันติกสมัย เวลาเที่ยงวัน
มัชฌิมะ ภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา (ต่ำกว่า ๕ เป็นนวกะ, ๑๐ พรรษาขึ้นไปเป็นเถระ)
มัชฌิมชนบท, มัชฌิมประเทศ ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่นมีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษาเป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นับแต่แม่น้ำสัลลวตีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัศจิม นับแต่ถูนคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ