เมตติยะ - โมฆบุรุษ
เมตติยะ ชื่อภิกษุผู้โจทพระทัพพมัลลบุตร คู่กับพระภุมมชกะ
เมตติยาภิกษุณี ภิกษุณีผู้เป็นตัวการรับมอบหมายจากพระเมตติยะและพระภุมมชกะมาเป็นผู้โจทพระทัพพมัลลบุตรด้วยข้อหาปฐมปาราชิก
เมตเตยยะ, เมตไตรย ดู ศรีอารยเมตไตรย
เมถุน “การกระทำของคนที่เป็นคู่ๆ”, การร่วมสังวาส, การร่วมประเวณี
เมถุนวิรัติ การเว้นจากร่วมประเวณี
เมถุนสังโยค อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็นชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนาที่จะเป็นเทพเจ้า
เมทนีดล พื้นแผ่นดิน
เมทฬุปนิคม นิคมหนึ่งในสักกชนบท
เมโท, เมท มันข้น
เมธี นักปราชญ์, คนมีความรู้
เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น, น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่
เมรุ
1. ชื่อภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บางทีเรียกพระสุเมรุ ตามคติของศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นบริเวณที่มีสวรรค์อยู่โดยรอบ เช่น สวรรค์ของพระอินทร์อยู่ทางทิศเหนือ ไวกูณฐ์แดนสถิตของพระวิษณุหรือพระนารายณ์อยู่ทางทิศใต้ ไกลาสที่สถิตของพระศิวะหรือพระอิศวรก็อยู่ทางทิศใต้เหนือยอดเขาพระสุเมรุนั้น คือ พรหมโลก เป็นที่สถิตของพระพรหม; ภูเขานี้เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า สิเนรุ และตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนา
ในชั้นอรรถกถา ยอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์ เชิงเขาสิเนรุ ซึ่งหยั่งลึกลงไปในมหาสมุทรเป็นอสูรพิภพ สูงขึ้นไปกึ่งทางระหว่างแดนทั้งสองนั้น เป็นสวรรค์ของท้าวจาตุมหาราช
สวรรค์ชั้นอื่นๆ และโลกมนุษย์ เป็นต้น ก็เรียงรายกันอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง รอบเขาสิเนรุนี้ (ในวรรณคดีบาลียุคหลัง เช่น จูฬวงส์ พงศาวดารลังกา เรียก เมรุและสุเมรุ อย่างสันสกฤตก็มี)
2. ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอดมีรั้วล้อมรอบซึ่งคงได้คติจากภูเขาเมรุนั้น
แม่หม้ายงานท่าน พระสนมในรัชกาลก่อนๆ
โมกข์ 1. ความหลุดพ้นจากกิเลส คือ นิพพาน 2. ประธาน, หัวหน้า, ประมุข
โมกขธรรม ธรรมนำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส, ความหลุดพ้น, นิพพาน
โมคคัลลานะ ดู มหาโมคคัลลานะ
โมคคัลลานโคตร ตระกูลพราหมณ์ โมคคัลลานะ
โมคคัลลี ชื่อนางพราหมณีผู้เป็นมารดาของพระมหาโมคคัลลานะ
โมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระเถระผู้ใหญ่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์กำจัดพวกเดียรถีย์ที่เข้ามาปลอมบวชในสังฆมณฑล และเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่ ๓
โมฆบุรุษ บุรุษเปล่า, คนเปล่า, คนที่ใช้การไม่ได้, คนโง่เขลา, คนที่พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง