ความเชื่ออันเหนียวแน่นที่ยึดโยงจิตใจผู้คนในถิ่นอีสานตอนล่าง ล้วนแยกไม่ออกระหว่างความเชื่อในพุทธศาสนา ผสมผสานกับพิธีพราหมณ์และความเชื่อในผีของบรรพบุรุษ หลังจากผ่านงานบุญสงกรานต์ บุญรื่นเริงที่ลูกหลานได้กลับมาไหว้ปู่ย่าตายยาย บิดามารดา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ บุญสำคัญอีกประการที่เชื่อกันว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ คือ การบวชบุตรหลาน ให้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เชื่อกันว่านั่นคือบุญอันยิ่งใหญ่ของผู้บวช เป็นการทดแทนบุญคุณ ให้กับบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่หลายรุ่นกล่าวต่อๆกันเสมอว่า หากมีบุตรหลานเป็นชาย แล้วไม่ได้บวช เสมือนมีห่วงที่ทำให้นอนตายตาไม่หลับ
ประเพณีการบวชนาคขี่ช้าง เป็นความเชื่อที่มีรากทางพระพุทธศาสนา คำว่า “ช้าง” ในภาษาบาลีหมายถึง “นาค” โดยเปรียบเทียบพระพุทธองค์ว่าเป็น “ช้าง” คำว่า “นาค”ปรากฏในคาถาสุภาษิตของพระอุทายีเถระ (อุทายีเถรคาถา) ในโสฬสกนิบาต พระบาลีสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่าไว้ว่า “...เราเคยได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมบุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง มีตนอันได้ฝึกฝนแล้ว มีจิตมั่นดำเนินไปในทางอันประเสริฐ ยินดีในธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็นอบน้อมบุคคลนั้น เทวดาและมนุษย์ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ออกจากป่าคือกิเลสใสสู่นิพพาน ออกจากกามมายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำอันพ้นจากหินฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล เป็นดุจ “ช้างอันประเสริฐ” รุ่งเรือง พ้นโลกนี้กับทั้งเทวโลก เหมือนขุนเขาหิมวันต์ รุ่งเรืองล่วงภูเขาอย่างอื่น ฉะนั้น เราจักช้างตัวประเสริฐซึ่งเป็นช้างมีชื่อโดยแท้จริง เป็นเยี่ยมกว่าผู้มีชื่อว่าช้างทั้งหมดแก่ท่านทั้งหลาย
ผู้ใดไม่ทำบาปผู้นั้นชื่อว่า “นาค” (ช้าง) ความสงบเสงี่ยมและการไม่เบียดเบียนเป็นเท้าหน้าทั้งสองของ “นาค” สติและสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง ช้างตัวประเสริฐควรบูชามีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มิปัญญาพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นศีรษะ มีธรรมคือสมถะวิวัสสนาเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง...” (พระไตรปิฏก. 2530 : 375-377)
ในพระบาฬีลิปิกรม เรียบเรียงโดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) พุทธศักราช 2459 ได้อธิบายคำว่า “นาค” ไว้หลายความหมาย เป็นต้นว่า งูใหญ่ ช้าง กบ ไม้กากทิง พระอรอันต์ รวมทั้ง “ ...นาค เรียกคำบาฬี ที่ผู้จะขอบรรพชาอุปสมบทต้องท่อง เรียกว่า “ขานนาค” คำว่านาคเป็นคำที่พระแลชาวบ้านเรียกคนที่เล่าขานนาคได้แล้วว่า “เจ้านาค” หรือ “พ่อนาค” บางทีก็เรียกเอาเมื่อเวลาที่ผู้บวชนั้นมีเทียนเที่ยวลาญาติมิตรกำหนดวันบวชว่า เจ้านาคหรือพ่อนาค คนที่ตามไปเป็นเพื่อนนาคเรียกว่า หางนาค
เมื่อพิจารณาความหมายของ “นาค” ที่แปลว่า “ช้าง” กับความหมายที่ว่านาคคือ “พระอรหันต์” หรือนาคคือ “ผู้อยู่ระหว่างการบรรพชา” เป็นคติการนำช้างมาใช้ในการบวชนาค ซึ่งยังปรากฏให้เห็นสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีบวชนาค หรือบวชเณร ที่เรียกว่า “บวชนาคช้าง” หมายถึง การบวชนาคที่เจ้านาคหรือผู้ที่จะบรรพชาเป็นพระภิกษุหรือสามเณรต้องขึ้นขี่ช้าง อันเป็นประเพณีของชาวบ้านตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ (และอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์)
ประเพณีการบวชนาคช้างนิยมกันในเดือนหก แม้ว่าปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาในการบวชตามความสะดวกของวิถีชีวิต หากแต่คติความเชื่อได้สะท้อนผ่านการปฏิบัติพิธี เจ้านาคจะแต่งองค์ทรงเครื่องเปรียบเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะก่อนเสด็จออกบรรพชา แล้วขึ้นขี่ช้างโดยใส่แว่นตาดำ ซึ่งหมายความว่ายังมืดมนมีอวิชชาอยู่ ต่อเมื่อขี่ช้างไปถึงโบสถ์เข้าสู่พิธีอุปสมบทในโบสถ์แล้วจึงถอดแว่นตาดำออกเสมือนเห็นแสงสว่าง คือการเข้าสู่พระธรรมวินัย นาคที่แต่งตัวสันฉูดฉาดก็เปรียบเหมือนกับการยังอยู่ในวังวนของกิเลส ต่อเมื่อบวชเป็นพระนุ่งห่มจีวรคือการละทิ้งกิเลส ช้างที่ใช้ในประเพณีการบวชแต่งองค์ทรงเครื่องงดงามโดยสมมุติให้เป็นดั่งช้างแก้วหรือช้างเผือกของพระมหาจักรพรรดิ ประเพณี “บวชนาคช้าง” จึงสื่อความหมายถึงการผสมผสานคติเรื่อง “นาค” ที่มีความหมายว่า “ช้างอันประเสริฐ” กับนาคที่มีความ หมายว่า ผู้ที่จะบวชเป็นเณรหรือพระภิกษุ
บ้านปรีง ตำบลบะ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนโบราณ ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยในการสื่อสาร ในบันทึกของหมอสูตรเก่ง จำปาทอง อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านปรีง บันทึกไว้ว่า บ้านปรีงมีอายุมากว่า 400 ปี โยกย้ายถิ่นฐานจากบ้านยางเก่า เนื่องจากเหตุโรคระบาดและเพทภัย ในหนังสือ Isan Travels: Northeast Thailand's Economy in 1883-1884 โดย ?tienne Aymonier . จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus ได้บันทึกไว้เมื่อปี 2427ว่าได้เดินทางผ่านบ้านปรีง ซึ่งมีครัวเรือนขณะนั้นกว่า 100 ครัวเรือน หลักฐานเหล่านี้พอยืนยันได้ว่า ชุมชนบ้าน ปรีง มีความเก่าแก่ และคงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยังคงรักษาประเพณีโบราณสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านปรีง นับถือช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญ มีความเป็นมงคลอันประเสริฐ สังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านปรีง ตำบลบะ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นชุมชนคนเขมร ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยในการสื่อสาร สันนิษฐานได้ว่าชาวบ้านปรีงมีความเกี่ยวพันเชื่อมร้อยกับชุมชนรายรอบซึ่งเป็นกลุ่มคนเลี้ยงช้างชาวกูย พิธีกรรมความเชื่อหลายประการจึงมีความคล้ายคลึงกับชาวกูยอาเจียงในเขตบ้านกระโพ บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ คนบ้านปรีงมีทั้งกูย เขมร และลาว มีการแต่งงานกันอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานหลายชั่วอายุคน การรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนสะท้อนผ่านรูปแบบของประเพณีการบวชนาคช้าง หรือ บวชนาคขี่หลังช้าง ของชาวบ้านปรีง ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการ “บวชนาคหมู่” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางประเพณีในกลุ่มชนในเขตอำเภอท่าตูม
บวชนาคช้างที่บ้านปรีง พ.ศ. 2559
เส้นทางลาดยางคดเคี้ยวผ่านผืนป่าดงสายทอ ป่าชุมชนผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในเขตพื้นที่ ต.บะ นำพาสู่หมู่บ้านใหญ่ที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายหมู่ตามการปกครองในปัจจุบัน ชุมชนบ้านปรีงเป็นชุมชนใหญ่ และเป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนข้ามแม่น้ำมูลไปยังเขตอำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ อันมีแม่น้ำมูลเป็นจุดแบ่งเขต
เสียงเครื่องเสียงปิดๆ เปิดๆ เพื่อทดสอบเสียงก่อนจะใช้ประโคมในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันงาน เต็นท์ใหญ่กางกันร้อนกันฝน สำหรับแขกผู้มาร่วมงาน อาหารการกินถูกเตรียมไว้พร้อม พ่อครัวแม่ครัวพร้อมหน้าทำกับข้าวกับปลา เนื่องจากก่อนวันบวชสองสามวันญาติพี่น้องที่อยู่ทั้งใกล้ไกลต่างเดินทางมาถึงบ้านงานกันแล้ว ในวันนี้ถือเป็นการชุมงานย่อมๆ ญาติพี่น้องนำข้าวของเครื่องใช้มาช่วยงาน ช่วยเตรียมเครื่องบวช และเครื่องพิธีบายศรีสู่ขวัญ
การบวชที่บ้านปรีงนั้นเจ้าภาพจะต้องปรึกษาหารือหลวงพ่อ (พระครูสิริพรหมสร) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสว่าง เจ้าคณะอำเภอท่าตูมก่อน เพื่อนัดหมายวันเวลาที่เหมาะสมในการประกอบพิธีบวชพร้อมกัน ปีนี้กำหนดการคือ วันที่ 20 เมษายน นาคแต่ละคนจึงต้องเตรียมพร้อม ลางานเพื่อบวช
พระครูสิริพรหมสร เล่าว่า ก่อนนั้นการบวชนาคไม่ได้นิยมช้างเหมือนทุกวันนี้ อาจจะด้วยหลายปัจจัย คือการได้นั่งช้างแห่ต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควรจึงจะสามารถนำช้างมาแห่ได้ เว้นแต่บางบ้านมีญาติพี่น้องที่มีช้าง ก็อาจจะได้ขี่ช้างเพราะญาติๆมาช่วยงาน การบวชนาคในอดีต นาคต้องมาอยู่วัด ถือปฏิบัติและท่องบาลี แต่ทุกวันนี้มาช่วงเย็น การปฏิบัติแตกต่างจากเมื่อก่อนอยู่มาก เพราะคนทำมาหากินต่างจากแต่ก่อน พิธีสำคัญๆ จะมีการสู่ขวัญนาค แห่นาค และเข้าโบสถ์บวช
เช้าตรู่ของ “วันโรม” หรือ “วันรวม” ตรงกับวันที่ 19 เมษายน 2559 เครื่องเสียงบ้านงาน ดังกระหึ่ม ปีนี้มีนาคบวช 9 นาค ซึ่งหลายคนมีหน้าที่การงานได้ลางานและภารกิจมาบวชตามประเพณี ชาวบ้านปรีงถือขันข้าวสาร ดอกไม้ น้ำหวานมามอบให้เจ้าภาพพร้อมกับมอบปัจจัยช่วยงาน แต่ละคนจะเวียนไปช่วยงานทุกๆ เจ้าภาพ จนกว่าจะครบ ปีใดที่มีบวช 20 คน ก็ต้องเดินไปช่วยครบทั้ง 20 บ้าน
บรรยากาศครื้นเครงหลายบ้านมีมหรสพ ปีนี้มีเจ้าภาพบางเจ้าภาพจ้างหมอรำซิ่งมาเล่นประโคมต้อนรับแขกที่มาช่วยงาน ขนมนมเนยในพิธี อาทิเช่น ขนมดอกบัว (ขนมโช๊ก) ขนมใส่ไส้ (โกร๊ยกะด็อล) นางเล็ต ข้าวต้มทางมะพร้าว ข้าวต้มด่าง กำลังถูกตระเตรียม เพื่อเป็นเครื่องประกอบพิธีและเป็นของที่ฝากให้ผู้มาช่วยงาน แม่ครัวพ่อครัวทำกับข้าวต่อเนื่องไม่ได้หยุด ฝ่ายจัดพานพิธีส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้เฒ่า นั่งจัดเครื่องพิธีที่ต้องใช้ในการบวช การสู่ขวัญ และไหว้เทพยดา รวมถึงเครื่องเซ่นผีปะกำที่ต้องเตรียมเซ่นแด่ช้างในวันแห่นาค
พิธีโกนผมนาคและพิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีโกนผมนาค มีเครื่องประกอบพิธีดังนี้
(1) ใบบัว สำหรับรองรับเส้นผมที่โกนแล้ว
(2) ขันธ์ 5 (ดอกไม้ ธูป เทียน) สำหรับให้นาคขอขมาโทษบิดามารดาและผู้ที่เคารพนับถือ
(3) มีดโกน
(4) พาน สำหรับวางขันธ์ 5 และใบบัว
พิธีโกนผมนาค เริ่มด้วยนาคกล่าวคำขอขมาโทษบิดามารดา พร้อมกราบลาขออุปสมบท
“กายกมมํ วจีกมมํ มโนกมมํ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรมทั้งสามที่ข้าพเจ้าได้สบประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี แกล้งก็ดี หรือมิได้แกล้งก็ดี ขออโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด นับแต่นี้ไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานเทอญ”
เมื่อกล่าวจบก็ก้มกราบบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมา ากนั้นจึงเริ่มการโกนผมนาค สำหรับนาค “นาคภิเษกศักดิ์ จำปาทอง” ตาและยาย เป็นผู้นำพิธีโกนผมแล้วจึงเป็นบิดามารดาและญาติพี่น้องตามลำดับอาวุโส
ในช่วงบ่ายเป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าภาพแต่ละบ้านแยกกันทำพิธีบายศรี บ้านปรีงในปัจจุบันขาดแคลนอาจารย์ผู้ประกอบพิธี ดังนั้นเจ้าภาพต้องจัดลำดับเพราะมีหมอสูตรคนเดียวกัน นาคบางคนสู่ขวัญในบ่ายวันโรม บางคนสู่ขวัญในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นก่อนแห่นาค พิธีบายศรีสู่ขวัญนี้แตกต่างจากชาวกูยบ้านกระโพ-ตากลาง พิธีของกลุ่มชาวกูยจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญรวมที่วัดก่อนแล้วจึงมาประกอบพิธีสู่ขวัญที่บ้าน สำหรับเครื่องประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญมีดังนี้
(1) เครื่องใช้ต่างๆ ในการอุปสมบท ประกอบด้วย บาตร อันตรวาสกหรือผ้าสบง อุตตราสงค์หรือจีวร สังฆาฏิหรือผ้าสำหรับพาดบ่า กายพันธน์หรือผ้าประคตเอว ธัมมกรกหรือเครื่องกรองน้ำมีลักษณะเป็นกระบอกคล้ายกรวย กล่องใส่เข็มและด้าย มีดโกน เครื่องบริวารอื่น ๆ ได้แก่ เสื่อ มุ้ง ปิ่นโต ย่าม ร่ม รองเท้า สบู่ ขัน แก้วน้ำ เป็นต้น
(2) จวมกรู ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก สานขึ้นเป็นกระจอมสำหรับใส่เหล้า กล้วย ขนม ข้าวต้ม โดยผูกติดไว้กับเสาเรือนเพื่อเซ่นผีเรือน
(3) พานบายศรี 5 ชั้น ประดับด้วยข้าวตอก ดอกไม้ และด้ายผูกมือ
(4) กระเชอใส่ข้าวเปลือก หิน เคียวบิด ข้าวเหนียว ไข่ไก่ มีดสนาก และใบขวาน
(5) น้ำสำหรับทำน้ำมนต์ เป็นน้ำผสมเครื่องหอม
(6) ไก่ต้ม
(7) ด้ายสายสิญจน์ สำหรับพันรอบบ้านในช่วงประกอบพิธี
(8) กระจอม ทำจากไม้ไผ่คล้ายกระโจม ตกแต่งด้วยกระดาษเงินกระดาษทองเป็นลวดลายงดงาม ด้ายห้อยประดับข้างหูทั้งสองข้าง เป็นเครื่องประดับศีรษะนาคในช่วงแห่ที่ต้องนั่งบนหลังช้าง แขวนไว้ด้านบนบริเวณพิธีบายศรีสู่ขวัญ
(9) ใบมะยม
(10) ขันธ์ 5 สำหรับนาคขอขมาบิดามารดา
(11) เงินจำนวน 12 บาท สำหรับเป็นค่าครู (ค่าคายหรือค่าทะลาย)
(12) เครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ต้ม เหล้า น้ำ หมาก พลู ขนม ข้าวเปลือก เป็นต้น
(13) กระเชอขวัญ
ก่อนเข้าพิธี ต้องมีพิธีอาบน้ำให้นาค แต่งหน้า แต่งกายนาค สวมเสื้อขาว นุ่งโสร่ง และพาดด้วยผ้าสามสี สีแดง เขียว น้ำเงิน และสวมกระจอม
เริ่มพิธี โดยการแห่นาครอบอาณาบริเวณพิธี 3 รอบ ผู้ร่วมขบวนแห่ 1 คนจะถือกระเชอขวัญ ซึ่งข้างในประกอบด้วยทัพพีและข้าวปั้นเป็นก้อน แห่ไปทั้ง 8 ทิศ มีคนนำเรียกขวัญนาคทั้ง 8 ทิศ แล้วทำกิริยาตักขวัญใส่กระเชอเพื่อนำมาเข้าพิธี ทำครบสามรอบจึงเข้ามานั่งในบริเวณพิธี หมอพราหมณ์จุดธูปเทียนไหว้ครู ถวายของแด่ครูและจุดธูปเทียนบอกกล่าวเทวดาและพระภูมิ จากนั้นทำพิธีสู่ขวัญ เรียกขวัญเสร็จพิธี แขกผู้มาร่วมงานร่วมรับประทานอาหารที่เจ้าภาพเตรียมไว้ต้อนรับอย่างอุดมสมบูรณ์ วันนี้นาคต้องไปอยู่ที่วัด ก่อนกลับมาทำพิธีแห่ในวันรุ่งขึ้น
รุ่งเช้าวันที่ 20 เมษายน บรรยากาศคึกคักแต่รุ่งเช้า เนื่องจากกลุ่มชาวช้างที่เจ้าภาพจ้างมาแห่ หรือบางเจ้ามาช่วยงานญาติพี่น้องได้มาเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาสวยงาม เจ้าภาพแต่ละเจ้าภาพต้องเตรียมอาหารการกินรับทั้งคนและช้าง น้ำท่าเตรียมไว้พร้อมเนื่องจากเดือนเมษายนร้อนระอุ ช้างต้องมีน้ำตลอดทั้งวัน เจ้าภาพแต่ละบ้านต้องยกถาดเครื่องเซ่นไหว้ผีปะกำช้าง ไปไหว้ปะกำช้าง มีควานช้างเป็นตัวแทนรับเครื่องเซ่นไหว้นั้น และควานจะต้องนำของไหว้กลับบ้านถือเป็นประเพณี พิธีนี้ในปัจจุบันไม่ได้มีหมอช้างมารับเช่นดังแต่ก่อน จึงเป็นการบอกกล่าวแบบธรรมดาขอให้ขบวนแห่ราบรื่น มีความสุขสวัสดีทั้งช้าง ควานช้าง เจ้าภาพและทุกคน หลังจากบอกกล่าวเสร็จต้องทำพิธีเสียงทายคางไก่ ซึ่งปีนี้หลายเจ้าภาพคางไก่สวยงาม โค้งงอสม่ำเสมอสวยงาม แสดงว่าการงานทุกอย่างราบรื่นและมีโชค
เมื่อได้เวลา นาคทุกนาคและผู้ร่วมงานทุกเจ้าภาพต่างไปรวมกันที่วัด เจ้าอาวาสนำสวดมนต์และแสดงธรรมเทศนาสั้นๆ จากนั้นเข้าสู่ขบวนแห่นาค ซึ่งคึกคักครื้นเครง ขบวนแห่นาคของแต่ละเจ้าภาพมีขบวนกลองยาวแต่งกายสีสันฉูดฉาด ขบวนเครื่องเสียงมีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบเข็ญ ใส่รถกระบะ ใส่รถหกล้อ ขบวนแห่แห่รอบหมู่บ้านจนครบทุกหมู่ (กลุ่มชุมชนเดิม) ในเวลาเที่ยงขบวนไปหยุดพักที่ “กุดน้ำใส” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีศาลปู่ตาอยู่ที่นั่น เจ้าภาพเมื่อไปถึงจะพักคน พักช้างนำน้ำหวานและเครื่องเซ่นไปเซ่นปู่ตา จากนั้นรับประทานอาหารกลางวัน พักเอาเรี่ยวแรงก่อนจะแห่ไปยังวัด
เมื่อถึงวัด นาคลงจากหลังช้างเข้าสู่พิธีบวชที่โบสถ์วัดโพธิ์ศรีสว่าง ญาติพี่น้องต่างรอคอยด้วยความปลื้มปีติ เมื่อทำพิธีบวชเสร็จ พระใหม่จะเดินออกมาจากโบสถ์โปรยทานให้กับญาติโยม ซึ่งแต่ละคนต่างกรูกันเก็บเหรียญทานเพื่อเป็นมงคลในชีวิต
เป็นอันสิ้นสุดพิธีบวชนาคขี่หลังช้าง เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์