ค้นหาในเว็บไซต์ :

ประเพณีตานสลากย้อมหนึ่งเดียวในโลก จังหวัดลําพูน



“สลากย้อม” เป็นประเพณีที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกิดขึ้นที่เดียวในโลก โดยมีรากฐานมาจาก "ชาวยอง" หรือกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่าและย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่งเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว

ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน เป็นส่วนสำคัญของงานประเพณี “ทานสลากภัตร” ซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดทานสลากภัตรในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 “สลากย้อม” เป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหญิงสาวที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงอายุ 20 ปี โดยประมาณอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสัก 2-3 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย

ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือ การนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) นาคที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา



กิจกรรมการแสดงละคร เรื่อง “ข้าเจ้าจะทานสลากย้อม” นำเสนอเรื่องความพยายามของหญิงสาวชาวลำพูน ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ที่จะถวายทานสลากย้อมให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เรื่องราวของการแสดงสะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดและความศรัทธาของคนในยุคนั้นที่มีต่อการทานสลากย้อม ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่งดงามผ่านการเล่าเรื่องตั้งแต่กระบวนการสร้างสลากย้อมและขั้นตอนการเตรียมการ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการถวายทานสลากย้อม

ภายในงานยังมี “ประกวดต้นสลากย้อม สูงไม่เกิน 12 เมตร” เป็นการประกวดการสร้างสลากย้อมที่สมบูรณ์ มีคติความเชื่อในเรื่องศาสนาและความงดงามของการสร้างสลากย้อมที่เน้นความสวยงาม ประณีต บรรจง แต่ทรงคุณค่า ลงตัวในทรวดทรงและการใช้วัสดุท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบ

ยังมี “ขบวนแห่ต้นสลากย้อมสูง 8 เมตร และสูง 4 เมตร” แห่จากหน้าศาลากลาง ผ่านถนนอินทยงยศ ถึงแยกประตูลี้ผ่านถนนรอบเมืองในเข้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เพื่อเฉลิมฉลองการนำสายไฟฟ้าลงดินของเทศบาลเมืองลำพูน นักท่องเที่ยวจะเห็นขบวนสลากย้อมสูง 8 เมตร และสูง 4 เมตร จำนวนกว่า 100 ต้น เคลื่อนผ่านบนถนนในเมืองลำพูน โดยมีเจ้าภาพ ผู้มีจิตศรัทธาที่จะทำทานสลากย้อมออกค่าใช้จ่ายและให้ศรัทธาหัววัดต่างๆ เป็นผู้จัดสร้าง พร้อมจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่งดงาม มีคนในชุมชนมาร่วมกันทั้งหมู่บ้าน โดยมีเจ้าภาพสลากย้อมเป็นผู้เดินนำหน้าต้นสลากย้อม และเล่าประวัติผู้ถวายทานด้วยทำนองโบราณที่เรียกว่า “ฮ่ำกะโลง” พร้อมการแสดงประกอบตลอดทาง



ภายในงานยังมี “การประกวดการฮ่ำกะโลง” เป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมการอ่านเรื่องราวเป็นทำนองโบราณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีสลากย้อมมิให้สูญหาย ซึ่งได้รับความสนใจ โดยเฉพาะจากเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก



ที่มา : เทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทั่วไทย ๒๕๖๔, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย