ประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่หิงไฟพระเจ้า เป็นประเพณีที่ชาวตำบลสูงเม่น ถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน เพื่อย้อนรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น (ครูบากัณจนะ อรัญญวาสีมหาเถร หรือ ครูบามหาเถร) และเพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม พร้อมสืบสานวัฒนธรรมทางศาสนา เปิดโอกาสให้คณะศรัทธา พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการทำบุญประเพณีตากธรรม
ทั้งนี้ ครูบากัณจนะอรัญญวาสีมหาเถร หรือ ครูบามหาเถร นับเป็นปฐมครูบาเจ้าแห่งภาคเหนือ สันนิษฐานว่าท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2332 มีอายุยาวนานถึง 4 รัชกาล (มรณะในปี 2421 รัชกาลที่ 4) พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนแพร่หรือจังหวัดแพร่ หลังจากอุปสมบทท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกมูลกัจจายนะ ปรมัตถุ์ สัททาทั้ง 80 มัด สมัญญาภิธาน เป็นต้น จนแตกฉานในธรรมทั้งหมด และเป็นผู้สร้างคุณงามความดีไว้จำนวนมาก อาทิ จัดสร้างและรวบรวมเขียนธรรมใบลาน เป็นภาษาบาลี บรรจุไว้ในพระไตรปิฎกวัดสูงเม่น มี 2,567 มัด นับเป็นผูกได้ 8,845 ผูก และยังได้นำไปบรรจุไว้ที่หลวงพระบางอีกจำนวนมาก
“การหิงไฟพระเจ้า” เป็นการนำไม้ขนาดกว้าง 1 นิ้ว ยาวประมาณ 40-50 นิ้ว มาเหลาปอกเปลือกแล้วทาสีเหลือง พอถึงวันพระก็นำไม้ไปประเคนพระประธานในโบสถ์แล้วนำไม้เหล่านั้น มารวมกันทำเป็นกระโจมไว้หน้าโบสถ์เพื่อทำพิธีจุดไฟ ซึ่งในอดีตพิธีนี้ปฏิบัติกันเพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวแก่พระสงฆ์และผู้มาทำพิธีในวัด