โครงการเงินออมก้นบาตร กระปุกออมสิน-เพื่อคนชรา
โครงสร้างทางสังคมไทยในยุคปัจจุบันประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้ม ที่สูงขึ้น ตรงกันข้ามประชากรวัยทำงานกลับมีสัดส่วนลดลง ซึ่งโครงสร้างของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาภาระที่ต้องดูแลประชากรผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันทางรายได้เพื่อยามชราภาพ ถ้ายิ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานเป็นที่พึ่งด้วยแล้วการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้อาจต้องลำบากขึ้น
จากปัญหาดังกล่าวจึงก่อเกิดการรวมตัวของบรรดาผู้สูงอายุจากทั่วประเทศ รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการหยิบยกผลสำเร็จที่ทำในชุมชนได้จริง พูดคุยผ่านตลาดนัดความรู้ แรงบันดาลใจ...สู่การปฏิบัติเพื่อดูแลผู้สูงวัยในชุมชนอย่างเป็นสุข จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บ้านโนนกุ่ม ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นคร ราชสีมา มีจุดเด่นที่การออมเงินของผู้สูงอายุโดยใช้บาตรพระ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นเอกภาพและดำเนินงานมากว่า 3 ปี ผ่านคนกลาง คือ พระ ที่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจหมู่บ้าน เพื่อดำเนินการออมเงินเก็บ ไว้ใช้ได้อย่างแยบยล แถมมีประสิทธิภาพ โดยใช้ เงินออมก้นบาตร เป็นตัวนำ
พระอธิการยงยุทธ ฐิตสาโร เจ้าอาวาสวัดโนนกุ่ม เจ้าของความคิด เล่าว่า ทุนเดิมของผู้สูงอายุในชนบทส่วนใหญ่ลูกหลานมักไปหางานทำในกรุงเทพฯ มีบางรายไม่มาดูแลหรือส่งเงินให้ การจะไปหาหมอหรือเงินที่จะต้องใช้จ่ายประจำวันหรือจะหางบประมาณจัดกิจกรรมภายในหมู่บ้านจะมีความลำบากมาก ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนยังไม่มีเบี้ยเลี้ยงคนชรา 500 บาทต่อเดือน เพิ่งมีมาไม่กี่ปีมานี้เอง
ส่วนแรงบันดาลใจมาจากไปดูงานที่บ้านขาม จ.ชัยภูมิ โดยที่นั่นมีวิธีออมเงินจากผู้สูงอายุวันละบาท จากนั้นเราก็มาคิดว่าที่หมู่บ้านเราน่าจะทำบ้าง แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้มีความน่าเชื่อถือ และต้องทำกันอย่างจริงจังเป็นกิจวัตร จึงใช้ศาสนาผ่านพระเป็นคนนำ เพราะโดยพื้นฐานผู้สูงอายุมักเข้าวัดทำบุญกัน
ส่วนแรงผลักให้คนหันมาออมเงินกันตนคิดได้ว่าคนชรานิยมใส่บาตรพระ จึงใช้เจ้าบาตรพระเป็นตัวหนุนนำ โดยนำบาตรพระที่ไม่ใช้แล้วมาขัดแล้วทาสีเสียใหม่ จากนั้นจึงไปแจกจ่ายตามบ้านเรือน แต่มีข้อแม้ว่าทุกบาตรที่แจกไปต้องล็อกกุญแจ และลูกกุญแจต้องเก็บไว้ที่ตน พร้อมให้สัญญากับตนว่าจะใส่เงินออมทุกวัน อย่างน้อยที่สุดก็ออมวันละบาท เมื่อครบกำหนด 6 เดือนจะนำกุญแจไปไขให้ในแต่ละบ้าน จากนั้น จะนำเงินนั้นผ่านไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อนำเงินไปฝากธนาคารอีกที ตรงนี้คนชราก็จะมีเงินหมุนใช้ แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่รับรองว่าไม่ลำบาก ถือเป็นกำลังใจให้กันและกัน
เงินจำนวนนี้แม้ไม่มาก แต่เมื่อรวมกันแล้ว เฉลี่ย 6 เดือนต่อ 1 คนจะอยู่ที่ 200-500 บาท เมื่อรวมกันหลายคนจะได้ถึงหลักพัน หลักหมื่น สามารถนำเงินนี้มาสร้างสันทนาการ ทำรอยยิ้ม คลายเครียดให้กับผู้ชรา โดยวิธีทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การตำหมาก การรักษาศีล การเต้นเข้าจังหวะ เมื่อคนชรามีรอยยิ้ม อารมณ์แจ่มใส แน่นอนว่าความเครียดยามห่างไกลลูกหลานย่อมไม่มี สุดท้ายสุขภาพกายใจแข็งแรง ไม่เท่านั้นเงินจำนวนนี้ยังสามารถปันผลแบ่งเป็นกำไรผ่านดอกเบี้ยให้ผู้สูงอายุอีกด้วย
ด้าน ลุงทองใบ อังกระโทก ประธานกลุ่มเอื้ออาทรบ้านโนนกุ่ม กล่าวสะท้อนผลการดำเนินการในแนวความคิดนี้ว่า นอกจากความแนบเนียนโดยใช้วัดและหลักศาสนาความเชื่อเป็นตัวนำแล้ว ผลทางบวกคือ เงินออมของบรรดาผู้สูงอายุที่ทุกคนจะมีเงินติดตัวไว้ใช้จ่ายตลอด ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมภายในชุมชน มีบางรายสามารถนำเงินนี้ไปดำเนินการลงทุนพืชสวน พืชไร่ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการจุนเจือครอบครัวได้อีกทาง จากแต่ก่อนมีสมาชิกผู้ชราเพียงไม่กี่สิบคน ปัจจุบันนี้มีถึง 222 คนแล้ว หรือเป็นสมาชิกกันทั้งหมู่บ้านเลยทีเดียว
แนวคิดเงินออมก้นบาตรนอกจากมีเงินออมไปใช้ในบั้นปลายชีวิตหรือในยามชราแล้ว ยังสร้างระบบระเบียบทางการเงิน สามารถต่อยอดเป็น ธนาคารชุมชนขนาดย่อม เกิดเป็นเงินหมุนเวียน สร้างเงิน สร้างรายได้
ไม่เฉพาะคนแก่เท่านั้นที่ยิ้มได้ แต่คนในชุมชนทั้งหมดล้วนยิ้มได้ตามไปด้วย