กรรมของเศรษฐีตระหนี่ เขียนโดย สืบ ธรรมไทย
สมัยหนึ่งเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ ครานั้นยังมีเศรษฐีชราผู้หนึ่งนามว่า อานันทเศรษฐี เขามีทรัพย์อยู่ถึง ๔๐ โกฏิ เศรษฐีผู้นี้แม้จักร่ำรวยเงินทองถึงปานฉะนี้แต่แทนที่จะใช้ทรัพย์ของตนไปในทางที่ฉลาดอย่างผู้มีปัญญา เช่นบริจาคให้คนยากไร้ หรือไม่ก็นำไปสร้างถาวรวัตถุอันจักเป็นประโยชน์ต่อผู้คนแลสังคม ที่ไหนได้ตะแกกลับมิได้คำนึงถึง ยิ่งมีทรัพย์มาก เท่าไหร่จิตใจก็ยิ่งพอกพูนไปด้วยความโลภมากเท่านั้น
ทุกๆกึ่งเดือนเขามักจักเรียกบุตรหลานเข้ามาอบรมย้ำเตือนมิให้ลูกหลานนำทรัพย์ไปใช้ในทางไม่ถูกไม่ควรอยู่เสมอๆว่า “ นี่แน่ะเจ้าพวกผู้เยาว์! ทรัพย์ที่มีอยู่ ๔๐ โกฏิพวกเจ้าอย่านึกว่ามันมากนักน่ะ ทรัพย์เหล่านี้ไม่ควรจักนำไปใช้ไม่ว่าจักเป็นกรณีใดๆถ้าการนั้นไม่ก่อให้เกิดกำไรขึ้นมา! โดยเฉพาะการบริจาคให้คนยากไร้หรือนักบวชที่เกียจคร้านไม่ยอมทำมาหากิน ขอพวกเจ้าอย่าได้กระทำเป็นอันขาด! เพราะการให้ทานกับคนเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ทรัพย์ของเราเพิ่มขึ้น มีแต่จักยิ่งทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่ต้องลดน้อยถอยลง
ขอพวกเจ้าจงพึงสังวรเอาไว้ ทุกครั้งที่ใช้ทรัพยออกไปแม้จักเป็นปริมาณเล็กน้อยก็ตาม นั่นก็คือภาวะที่จักนำพวกเจ้าไปสู่การสิ้นทรัพย์ในที่สุด! เพราะทรัพย์จักต้องหมดลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดั่งภาษิตที่ว่าน้ำมันหยอด ตาแม้จักใช้ทีละหยดสองหยด แต่เนิ่นวันไปมันย่อมหมดลงได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ทรัพย์ที่เจ้าใช้ไปทีละนิดทีละหน่อย มีฤาที่มันจักอยู่คู่กับเจ้าอย่างไม่มีวันหมดสิ้นไปได้ ขอพวกเจ้าจงดูจอมปลวกไว้เป็นตัวอย่าง
จอมปลวกที่เห็นใหญ่โตกว่าที่มันจักใหญ่เท่ากับภูเขาเลากาได้ ฤาเพราะมิใช่ต้องอาศัยความมานะบากบั่นของปลวกตัวเล็กตัวน้อย ค่อยๆก่อค่อยๆสร้างกันมาดอกหรือ อีกทั้งมธุรสหวานล้ำที่อยู่ในรวงรังผึ้ง กว่าจักถึงซึ่งความมากมายฤาเพราะมิใช่ต้องอาศัยความขยันขันแข็งของเหล่าผึ้งงานที่ค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อยทีละหน่อยทีละนิด จึงได้มีน้ำหวานมากมายเป็นโอ่งเป็นไหได้ถึงปานฉะนี้ ดังนั้นขอพวกเจ้าจงถือเอาสัตว์ทั้งสองนี้เป็นครูเถิด จงพยายามหาทรัพย์มาให้มากที่สุดเท่าที่จักหาได้ แลจงอย่าได้ใช้ทรัพย์ออกไปแม้แต่เพียงเล็กน้อยเป็นอันขาด! ”
เศรษฐีชราพยายามพล่ามเตือนบุตรหลานอย่างนี้เรื่อยมา ต่อมาไม่นานเขาก็ละสังขารไปตามอายุขัยที่มีบนโลก แต่เนื่องจากตัวเขานั้นเป็นผู้มากไปด้วยความโลภเป็นสันดาน ก่อนตายจึงมิอาจปล่อยวางในทรัพย์สมบัติได้ พอตายลงจึงไปปฏิสนธิในครรภ์ของหญิงจัณฑาลนางหนึ่ง มีนิวาส สถานอยู่ในชุมชนคนจัณฑาล ห่างจากกรุงสาวัตถีออกไปไม่ไกลนัก
ปกติความเป็นอยู่จัณฑาลนางนี้ก็ถือว่าค่อนข้างจักอัตคัดขัดสนอยู่แล้ว เพราะต้องขอทานผู้คนเลี้ยงชีพ แต่พอตั้งครรภ์ลูกในท้องได้เท่านั้นสภาพขัดสนที่ว่า กลับต้องลำบากลำบนมากยิ่งขึ้นไปอีก และไม่เพียงแต่ครอบครัวนาง ความลำบากยังแผ่คลุมไปทั่วทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคนจัณฑาลแห่งนี้ด้วยต่างหาก ลาภผลจากเคยได้อยู่ได้กิน แม้บางมื้อจักไม่อิ่มท้องก็ตาม จู่ๆก็พลันฝืดเคืองขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้คนจากเคยยิ้มแย้มหยอกหัว แม้จักเหน็ดจักเหนื่อยกันจนสายตัวแทบขาด อยู่ๆก็กลับบึ้งตึงเข้าหากันโดยไม่ทราบสาเหตุ ความผิดปกตินี้ได้ขยายออกไปเป็นวงกว้างจนผู้คนในชุมชนเริ่มรับรู้ ดังนั้นจึงเกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น
ผู้นำชุมชนเมื่อเห็นว่าเรื่องชักจักบานปลายเกรงว่าจะเกิดความแตกแยกขึ้นในพวกพ้อง จึงเรียกทุกคนให้มาประชุมกันเพื่อหาหนทางแก้ไข หลังจากปรึกษาหารือก็ได้ข้อสรุปว่าในชุมชนพวกเขาต้องมีใครคนใดคนหนึ่งที่เป็นคนกาลกิณีปะปนอยู่แน่เหตุอาเพสนี้ถึง ได้เกิดขึ้น และเพื่อให้ได้มาซึ่งคนผู้นี้ผู้นำชุมชนจึงสั่งให้แบ่งคนทั้งหมดออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน โดยพวกแรกเช้าวันพรุ่งนี้ให้ไปหาขอทานยังด้านทิศเหนือ ส่วนพวกที่สองซึ่งมีหญิงจัญฑาลแลสามีร่วมอยู่ด้วย ให้ไปขอทานยังด้านทิศใต้ แหละเย็นพรุ่งนี้หลังเลิกขอทานให้ผู้นำทั้งสองกลุ่มมารายงานผลให้เขาทราบ
เช้ารุ่งขึ้นจัณฑาลสองพวกที่แบ่งกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่างก็แยกกันไปขอทานตามที่ได้ตกลงไว้ เย็นวันนั้นหลังเลิกขอทานปรากฏพวกที่ไปขอทานยังด้านทิศเหนือต่างก็ยิ้มแย้มหยอกหัวกันมาตลอดทาง เนื่องจากวันนี้ไม่รู้เป็นไร บรรดาผู้ใจบุญอยู่ๆก็ออกมาบริจาคทานกันจนมากมายผิดหูผิดตา ทำให้พวกเขาได้ลาภเป็นของกินของใช้ติดไม้ติดมือกันมาคนละเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพวกเขาจึงมีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสเป็นพิเศษ
แต่พวกที่ไปขอทานยังด้านทิศใต้กลับหาได้เป็นเช่นนั้น วันนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นวันมหาอุบาทว์อันใด ไม่ว่าพวกเขาจะไปตรอกไหนซอยไหนก็หาได้มีผู้คนจักออกมาบริจาคทาน แม้แต่เพียงรายเดียว! บรรดาผู้ใจบุญซึ่งเคยมีบ้าง จู่ๆก็กลับเงียบหายไปเสียยังงั้น ไม่มีเฉียดกรายเข้ามาให้เห็นแม้เงา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องกลับบ้านกันด้วยมือเปล่าทุกคน
และยิ่งมาเห็นสีหน้าพวกไปขอทานทิศเหนือเริงรื่นแจ่มใส กินข้าวกินปลากันอย่างอิ่มหมีพีมัน พวกเขาก็ยิ่งหงุดหงิดใจเข้าไปใหญ่ ต่างส่งเสียงด่าทอถึงความโชคร้ายของตนกันให้ระงม ว่าจักต้องมีใครคนใดคนหนึ่งในพวกเขาแน่ที่เป็นคนกาลกิณี ความอับโชคนี้ถึงได้เกิดขึ้นกับพวกเขา หลังจากสองกลุ่มกลับถึงชุมชนผู้นำชุมชนก็ได้เรียกหัวหน้ากลุ่มเข้าไปสอบถาม จากนั้นก็ให้ทุกคนมารวมกันเพื่อแจ้งผลให้ทราบ
“ พี่น้องทั้งหลาย บัดนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในชุมชนพวกเรา จักต้องมีใครคนใดคนหนึ่งที่เป็นคนกาลกิณีปะปนอยู่แน่ แหละคนผู้นั้นก็อยู่ในกลุ่มที่ไปขอทานยังด้านทิศใต้ในวันนี้ ฉะนั้นขอพวกที่ไปขอทานยังด้านทิศใต้จงฟังให้ดี ขอพวกท่านจงแบ่งคนของตนออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆกัน แล้ววันพรุ่งนี้ให้พากันไปขอทานยังด้านทิศใต้เหมือนเดิม แต่ให้แยกกันไปคนละหมู่บ้านอย่าซ้ำกัน! แหละเย็นพรุ่งนี้ได้ผลอย่างไรให้หัวหน้ากลุ่มมารายงานให้ข้าพเจ้าทราบ สำหรับวันนี้ขอเชิญแยกย้ายกันไปพักผ่อนได้ ”
หลังจากผู้นำชุมชนใช้วิธีการแบ่งกลุ่มให้มีขนาดเล็กลง เล็กลง ในที่สุดหญิงจัณฑาลแลสามีก็จำต้องแยกกันไปขอทานกันคนละหมู่บ้าน เย็นวันนั้นหลังเลิกขอทาน ปรากฏหน้าบ้านสามีภรรยาคู่นี้ได้มีกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนบ้านในชุมชน พากันมายืนออเพื่อรอดูว่าสามีภรรยาคู่นี้ ใครกันแน่ที่เป็นคนกาลกิณี!
และแล้วสิ่งที่ทุกคนรอคอยก็ปรากฏ ซ้ายมือพวกเขามีชายคนหนึ่งกำลังมุ่งมาทางบ้านหลังนี้ ในมือของเขาหอบหิ้วของกินของใช้ติดไม้ติดมือมาจนแทบจักล้นมือ ใบหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน ขณะเดียวกันขวามือก็มีหญิงมีครรภ์นางหนึ่งกำลังมุ่งมาทางบ้านหลังนี้เช่นกัน ในมือทั้งสองของนางว่างเปล่า หาได้มีสิ่งของใดๆติดไม้ติดมือให้เห็นแม้แต่เพียงชิ้นเดียว ใบหน้าขาวซีดจนมองไม่เห็นสีเลือด เดินโซซัดโซเซราวกับคนไม่ได้กินอาหารมาสักสามสี่วัน ภาพทั้งสองแม้นไม่มีคำบรรยายแต่ทุกคนก็รู้แล้วว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนกาลกิณี
บัดนี้เมื่อเหตุแห่งปัญหาถูกเผยออกมา เพื่อให้ความสงบสุขกลับสู่ชุมชนโดยไว จัณฑาลทั้งหลายจึงลงความเห็นว่าหญิงมีครรภ์นางนี้ต้องออกไปจากชุมชนพวกเขาทันที โดยไม่มีเงื่อนไข แหละเมื่อเสียงส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้อง ชายผู้เป็นสามีก็มิอาจทัดทานได้ จำต้องปล่อยภรรยาให้เก็บข้าวของออกไปจากชุมชนโดยพลัน
ฝ่ายจัณฑาลิณีผู้มีกรรม หลังถูกขับออกจากหมู่เพื่อนนางก็ต้องระหกระเหินไปตามที่ต่างๆ ค่ำไหนก็นอนนั่น ต้องทนอดมื้อกินมื้อ ลำบากลำบนเหลือที่จักกล่าว แต่ถึงจะทุกข์เพียงใดนางก็หาเอ่ยปากตัดพ้อต่อว่าบุตรในครรภ์แม้แต่น้อย จนได้เวลาทลิทโทฤกษ์อันเป็นเวลาเกิดของพวกขอทานหรือคนเข็ญใจ จัณฑาลนางนี้ก็ได้คลอดลูกชายออกมาผู้หนึ่ง มีรูปกายที่แสนทุเรศอัปลักษณ์เกินกว่ามนุษย์มนาจักพึงมี ตลอดหัวหัวจรดเท้าไม่ว่าจักมองมุมไหนก็มิได้เหมือนผู้เหมือนคน แต่ดันพิกลไปเหมือนกับผีกับเปรตเสียยังงั้น! ทั้งนี้ก็เพราะกรรมได้บันดาลให้เป็นไป
แต่ถึงบุตรจักมีหน้าตาน่าเกลียดเพียงใดผู้เป็นแม่ก็หาได้มีใจรังเกียจเดียดฉันท์แม้แต่น้อย นางเฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟัก ทะนุถนอมลูกรักอย่างเต็มกำลังความสามารถเสมอมา จนบุตรน้อยมีวัยพอจักรู้เดียงสา วันหนึ่งนางได้เรียกลูกเข้ามา พร้อมกับยื่นสมบัติล้ำค่าคือกะลาขอทานให้ไป จากนั้นก็ฝืนข่มกลั้นความอาลัย ตัดใจสั่งสอนลูกเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ ลูกเอ๋ย! บัดนี้เจ้าก็โตมาด้วยวัยอันควรแล้ว แม่นี้ไม่มีสมบัติใดจักยกให้ เห็นอยู่ก็แต่กะลามะพร้าวใบนี้เท่านั้น ขอเจ้าจงใช้มันเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพเถิด แลขอเจ้าจงจำไว้ว่าแม้เราจักมีชะตาอาภัพเพียงใด แต่ก็ยังภูมิใจที่ไม่เคยประพฤติตนเป็นโจรฤาคนพาล ฉะนั้นเจ้าจงใช้กะลามะพร้าวที่แม่ให้นี้ เที่ยวขอทานผู้คนเลี้ยงชีวีเถิดลูกรัก! ” ฝ่ายบุตรน้อยพอรับกะลาจากแม่ก็ให้แสนดีใจ รีบอำลาผู้เป็นมารดาทันใด จากนั้นก็หายลับไปปะปนกับผู้คนตามท้องถนนทันที
หลังแยกจากมารดาแล้ว ขอทานน้อยก็ใช้วิชาที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เที่ยวขอทานผู้คนอย่างมีความสุขเรื่อยมา จนวันหนึ่งเขาสะเปะสะปะมาเจอปราสาทหลังหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ มีความใหญ่ โตอลังการเป็นอย่างยิ่ง ในความรู้สึกเขาปราสาทหลังนี้มันช่างคุ้นตาเสียนี่กระไร ไม่ว่าจักเป็นรูป ทรงสีสัน หรือว่าหน้าต่างประตู เหมือนว่าเคยจักเห็นมาก่อนยังไงยังงั้น!
ก็จักไม่คุ้นยังไง ในเมื่อปราสาทหลังนี้มันก็คือปราสาทของเขาในชาติที่ยังเป็นเศรษฐีจอมงกอยู่นั่นเอง พอมาเจอชาตินี้เขาจึงรู้สึกคุ้นเคยผูกพัน มันย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
หลังจากยืนพิจารณาอยู่พักใหญ่ในที่สุดเขาก็จำได้ว่ามันคือปราสาทของเขาเมื่อชาติที่แล้วนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่รอช้า รีบสาวเท้าเข้าไปทันที ขณะนั้นบริเวณนอกตัวปราสาทมีข้าทาสกลุ่มหนึ่งกำลังทำงานอยู่ เหล่าคนงานพอเห็นขอทานสกปรกมอมแมม หน้าตาน่าเกลียดราวกับผีกับเปรตก็มิปาน เดินมุ่งมายังปราสาทตน ต่างก็ตะโกนขับไล่ทันที ด้วยเกรงว่าขอทานผู้นี้จะมาทำให้ปราสาทของตนต้องมัวหมอง แต่ถึงจักขู่ตะคอกเพียงใดก็หาทำให้เด็กหน้าผีมีใจสะทกสะท้านไม่ มิหนำซ้ำยังกลับเดินลิ่วเข้ามาอีก
พอเห็นดังนั้นแต่ละคนจึงไม่รอช้า รีบฉวยเอาท่อนไม้ท่อนฟืนที่พอจักหาได้แถวนั้นขึ้นมากันคนละดุ้นสองดุ้น จากนั้นก็กรูเข้าไปทุบตีเด็กประหลาดหน้าผีจนถึงแก่วิสัญญีภาพ นอนหมดสติอยู่ที่ปากทางก่อนจักเข้าตัวปราสาทนั่นเอง! เพลานั้นสมเด็จพระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านมาพอดี จึงทันทรงเห็นเหตุการณ์ ด้วยพระเมตตาพระองค์จึงตรัสกับเหล่าข้าทาสว่า “ ดูก่อนท่านทั้งหลาย ขอจงงดโทษให้กับขอทานน้อยด้วยเถิด เพื่อบาปจักได้ไม่เกิดกับพวกท่านมากไปกว่านี้อีก ”
บรรดาคนงานพอเห็นพระศาสดาทรงมีพระดำรัสห้ามมิให้พวกตนทำร้ายเด็กหน้าผีอีก จึงหยุดมือลง พร้อมกันนั้นต่างก็ก้มลงกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทโดยพร้อมเพรียงกัน สมเด็จพระผู้มีพระภาคครั้นทรงเห็นพวกเขาคลายจากโทสะแล้วจึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถึงอดีตชาติของขอทานน้อยให้พวกเขาทราบ ว่าแท้จริงขอทานผู้นี้ ชาติที่แล้วก็คือท่านอานันทเศรษฐี เจ้าของปราสาทหลังนี้นั่นเอง แต่เพราะกรรมที่เป็นคนตระหนี่ไม่ยินดีในการให้ พอตายไปบาปอกุศลที่ทำไว้จึงนำให้เขาไปเกิดในสกุลของคนจัณฑาล มีฐานะยากจน ต้องกระเสือกกระสนขอทานผู้คนเลี้ยงชีพ ไม่เพียงเท่านั้น กรรมยังส่งผลให้เขาเกิดมามีหน้าตาที่อัปลักษณ์เกินกว่าผู้คนธรรมดาทั่วไปจักพึงมีอีก
ท่านมูลสิริเศรษฐีซึ่งเป็นบุตรของเศรษฐีจอมงก และก็อยู่ในกลุ่มคนที่ออกมามุงดูเหตุการณ์นี้ด้วย พอได้ฟังพระพุทธฎีกาทีแรกก็ยังไม่ยอมเชื่อ แต่พอดีเวลานั้นขอทานน้อยได้รู้สึกตัวขึ้นมา ดังนั้นสมเด็จพระพุทธองค์จึงทรงให้เขาเป็นผู้เล่าเรื่องเอง พร้อมกับตรัสให้เขาพาคนไปขุดเอาสมบัติที่ตนแอบไปฝังไว้โดยมิได้บอกให้ลูกหลานรู้ขึ้นมา ซึ่งมีอยู่ถึง ๕ แห่ง
พอสมบัติถูกขุดขึ้นท่านมูลสิริเศรษฐีจึงยอมเชื่อในพระพุทธฎีกา จากนั้นก็หันมาเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังมากขึ้น และไม่เพียงตัวเขา ต่อมาเขายังชักจูงบุตรหลานให้หันมาบริจาคทานรักษาศีลตามเขาด้วยต่างหาก เพื่อที่ว่าชาติหน้าฉันใดหากคนเหล่านี้ตายไปจักได้ไม่ต้องเกิดมามีสภาพที่น่าอเนจอนาถเหมือนดังปู่ทวดของตน ฝ่ายขอทานน้อยหลังจากความจริงปรากฏ สุดท้ายลงเอยอย่างไรในตำรามิได้กล่าวไว้ ดังนั้นจึงขอจบเรื่องของเศรษฐีผู้มีกรรม เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ .
จากเรื่องที่นำมาเล่าคงเห็นถึงอานิสงส์ของการบริจาคทานกันแล้วกระมัง? ใครที่ยังตระหนี่จนเพื่อนออกปากแม้แต่อุจจาระก็ยังไม่ยอมให้สุนัขรับประทานล่ะก็ ขอจงดูขอทานน้อยไว้เป็นตัวอย่างเถิด เผื่อจักมีใจเปิดพกเปิดห่อออกไปทำบุญทำทานกับเขาบ้าง ไม่ใช่มัวแต่เก็บอย่างเดียว ประเดี๋ยวเกิดมาหน้าเหี่ยวเหมือนขอทานหน้าผีไม่รู้นะ!
ด้วยความปรารถนาดี
สืบ ธรรมไทย
ที่มา : พุทธชาดก / โลกทีปนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)