กฎแห่งกรรม : เบ็ดเกี่ยวปาก
แม้จะเป็นคนไทย นับถือพุทธศาสนา แต่ฉันก็ไม่ค่อยเข้าถึงหลักธรรมคำสอนสักเท่าไหร่ ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ทำบุญทำทานตามวาระโอกาส เช่น ปีใหม่ วันเกิด หรือในวันสำคัญทางศาสนา
แต่เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตก็เริ่มวุ่นวายและไม่สนุกเหมือนเดิม ทำให้ฉันหันมาสนใจศึกษาพระธรรม ด้วยการอ่านหนังสือ ฟังพระเทศน์ ฟังธรรมบรรยายจากครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางธรรม
ผลที่ได้รับนั้น ทำให้ฉันเข้าใจตัวเองมากขึ้น ชีวิตเริ่มสงบลง ขณะเดียวกันก็ได้ความรู้อะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยรู้ เช่น เรื่องกฎแห่งกรรม ที่ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆสำหรับคนที่ทำแต่กรรมไม่ดี ทั้งโดยเจตนาก็ตาม หรือไม่เจตนาก็ตาม
แรกๆฉันคิดว่าการกระทำกรรมไม่ดี ต้องทำตอนโตจึงจะมีผล แต่ถ้าทำตอนเล็กๆคงไม่เป็นไร เพราะยังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่สิ่งที่ฉันคิดนั้นผิด เพราะขึ้นชื่อว่าทำกรรมแล้ว ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
เหมือนกับเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งที่ฉันได้รู้จักตอนไปปฏิบัติธรรมที่เดียวกัน เธอชื่อว่า “ป้อม” ซึ่งได้ทำกรรมไว้เมื่อตอนเด็กๆ และได้รับผลของกรรมเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีทีเดียว
ป้อมเล่าว่าเธอมักจะเกิดแผลในปากบ่อยๆ ตอนแรกก็เข้าใจว่า ดื่มน้ำน้อยทำให้ร้อนในจึงเกิดแผลในปาก เธอก็พยายามดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่มันก็จะเกิดแผลในปากอยู่เรื่อยๆ
พอได้มาปฏิบัติธรรมฝึกสติรับรู้การกระทำในปัจจุบัน จึงพบว่า ปกติแล้วการที่ลิ้นจะโดนฟันขบเวลาเคี้ยวอาหารก็เป็นเรื่องธรรมดาของลิ้นกับฟัน ที่อาจมีการกระทบกันได้บ้าง
แต่ที่ผิดปกติและไม่ธรรมดาก็คือ มีหลายครั้งที่ไม่ได้เคี้ยวอาหาร แค่พูดคุยกันธรรมดา จู่ๆฟันก็ไปกระทบกับลิ้น หรือฟันไปกัดโดนกระพุ้งแก้มในปาก หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นแผลเจ็บปวดเกือบ 10 วัน ไม่ใช่แผลร้อนในอย่างที่เคยเข้าใจ
เมื่อลิ้นเป็นแผลเธอก็ใส่ยารักษาให้หายเร็วๆ แต่ไม่นานก็เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็รักษากันไป วนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นปีๆ ทำให้เธอเกิดความลำบากมากในการรับประทานอาหารทุกครั้ง
แต่หลังจากที่เธอได้ฟังธรรมบรรยายของ ดร.สนอง วรอุไร ว่าถ้าเราทำกรรมอะไรไว้ ก็ชดใช้ให้หมดไปในชาตินี้
เธอจึงได้หันกลับมาทบทวนการกระทำที่ผ่านๆมาของตัวเอง แล้วก็พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น มันไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บธรรมดา แต่มันเป็นโรคที่เกิดจากกรรม เธอจึงเลิกรักษา และพร้อมชดใช้กรรมทั้งหมด ด้วยความอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวด
กรรมที่ป้อมได้ก่อไว้ เธอเล่าว่า ได้ทำมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เพราะวัยนั้นเธอเป็นเด็กหญิงที่ซุกซนมาก ชอบเล่นกับเด็กผู้ชาย ไม่ว่าจะปีนต้นไม้ กระโดดน้ำในคลอง เธอทำได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เรื่องตกปลา เธอไม่เคยทำ
เนื่องจากบ้านที่เธออยู่นั้น หน้าบ้านมีคูน้ำ ช่วงฤดูฝนที่น้ำหลาก น้ำจะล้นมาถึงคูหน้าบ้าน และมีปลาตัวเล็กๆตามมาด้วย
ป้อมชอบไปเล่นที่คูน้ำ เธอเห็นปลาว่ายน้ำไปมา จึงนึกสนุกเอามือไปช้อนเล่น ได้บ้างไม่ได้บ้าง จับได้มาแค่พอปลาดิ้นกระดุกกระดิกบนฝ่ามือ เธอก็ปล่อยลงน้ำไปเหมือนเดิม เล่นอย่างนี้หลายวันเข้าก็เบื่อ เธอจึงคิดว่า ตกปลาดีกว่า น่าจะสนุกดี เพราะเธอเคยเห็นพวกเด็กผู้ชายเล่นตกปลาแข่งกันอย่างสนุกสนาน
คิดแล้วเธอก็ไปหาอุปกรณ์ตกปลา โดยไปซื้อเบ็ดและเอ็นที่ตลาด แล้วหาไม้ไผ่มาทำคันเบ็ด ซึ่งเธอก็ทำได้ เพราะเคยช่วยเพื่อนๆทำ จากนั้นก็ไปขุดหาไส้เดือนมาเป็นเหยื่อ เมื่อได้ของครบแล้ว ป้อมก็เตรียมตัวไปตกปลา
เมื่อแม่เห็นก็ห้าม และไล่ให้ไปเล่นอย่างอื่น ป้อมจึงหลบไปสักพัก พอเห็นว่าแม่ไม่อยู่ ก็หอบอุปกรณ์มาตกปลาอีก แต่เพราะเป็นมือใหม่หัดตก ตอนแรกจึงตกไม่ได้เลยสักตัว ทำให้ป้อมรู้สึกเบื่อ และอยากจะเลิก
แต่พอนานเข้า ก็เริ่มมีปลามากินเบ็ด เมื่อตกได้ปลาตัวแรกซึ่งเป็นปลาตัวเล็กๆ เธอก็จะปลดเบ็ดที่เกี่ยวปากปลาออก แต่ความที่ไม่ชำนาญ กว่าเธอจะปลดเบ็ดออกได้ ก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ปากปลาครูดกับเบ็ดจนเป็นแผลถลอก!! แล้วเธอก็ปล่อยมันลงน้ำไป
ตอนนั้นป้อมไม่รู้หรอกว่า การกระทำของเธอ ทำให้ปลามันเจ็บปวดแค่ไหน เพราะเธอยังคงตกปลาอย่างสนุกสนานต่อมาอีกหลายอาทิตย์ และก็ทำเหมือนเดิม คือ พอตกได้ ก็ปล่อยไป เรียกว่า มีปลานับสิบๆตัวที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้
แต่เหตุที่น้ำไม่ได้หลากมามากทุกปี ทำให้กิจกรรมตกปลาของป้อมค่อยๆห่างไป และเมื่อโตขึ้นเธอก็ไม่ได้สนใจที่จะตกปลาอีกเลย จนกระทั่งเรียนจบและแต่งงานไป
จนกระทั่งผลกรรมที่ทำไว้ ได้ย้อนกลับมาหา เธอต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นแผลในปากบ่อยครั้ง และช่วงเวลานี้เองที่เธอได้รู้ถึงรสชาติของความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ซึ่งไม่ต่างไปจากปลาทั้งหลายที่เธอได้ทำกับพวกมันไว้
หลังจากได้ชดใช้หนี้กรรมให้พวกปลา โดยยอมเจ็บปวดทุกข์ทรมานมานาน ทุกวันนี้แม้ฟันจะขบถูกลิ้นแรงๆเวลาเคี้ยวอาหาร ก็ไม่เป็นแผลเจ็บปวดหลายวันเหมือนแต่ก่อน เจ็บแค่ไม่นานก็หายไป
เธอคิดเอาเองว่า ตอนนี้เธอน่าจะชดใช้กรรมจากการตกปลาหมดสิ้นแล้ว และเธอได้ขออโหสิกรรมกับพวกมันด้วย ขอให้เลิกแล้วต่อกันในชาตินี้
ตั้งแต่นั้นมา เธอก็หมั่นทำบุญใส่บาตร และไม่ลืมที่จะอุทิศผลบุญให้กับผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเธอ
ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เขียนเล่ามาเป็นธรรมทานในการเตือนสติแก่เพื่อนร่วมโลกให้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ และตั้งอยู่ในความดีงามตลอดไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย นิรนาม)
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์