จิตใจที่โกรธมองไม่เห็นตามความเป็นจริง จิตใจที่ปราศจากกิเลสเท่านั้นที่มีคุณสมบัติรู้เห็นตามความเป็นจริง


มีผู้พายเรืออยู่ในทะเลสาบ เขาภูมิใจในเรือของเขามาก มันสวยงามเหลือเกิน ในขณะที่กำลังเพลินอยู่กับการพายเรือนั้น เรืออีกลำหนึ่งมาชนข้างหลัง เจ้าของเรือมองเห็นคนที่พายเรือมาด้วยความประมาทก็โกรธ ทำไมจึงไม่ระวัง ต่อมาอีกวันหนึ่งเขาไปพายเรืออีกครั้งหนึ่ง เรือซ่อมเรียบร้อยแล้ว เขากำลังพายเรือด้วยความเพลิน ก็มีเรืออีกลำหนึ่งมาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือเท่าเดิม เท่าครั้งแรก แต่ครั้งที่ ๒ เมื่อเจ้าของเรือมองไปว่าใครมาชนเรือ ปรากฏว่าครั้งนี้เรือที่มาชนไม่มีใครพายมันลอยมาเฉยๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือครั้งที่ ๒ เหมือนครั้งแรก แต่ทำไมเจ้าของเรือไม่โกรธเหมือนครั้งแรก ในเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเหมือนกัน ทำไมครั้งแรกโกรธมาก ครั้งที่ ๒ ไม่ค่อยโกรธ ครั้งแรกเห็นว่ามีผู้พายเรือ ครั้ง ๒ เห็นว่าไม่มีใครพายเรือเท่านั้นเอง มันน่าสนใจว่าทำไมอารมณ์จะไม่เหมือนกัน ในเมื่อมองในแง่ความเสียหายเหมือนกัน

จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นความสำคัญของจิตใจที่มีอุปาทาน ที่มั่นหมายว่าเขาเป็นผู้ทำ เขาทำเรา เขาเบียดเบียนเรา เขารังแกเรา เขากลั่นแกล้งเรา พอเรามีความรู้สึกว่าเขาเป็นผู้กระทำอารมณ์จะรุนแรงมาก แต่พอเห็นว่า เป็นสักแต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย จิตใจเราก็เย็นลงไปเยอะ

ความโกรธจะเกิดขึ้นเพราะอวิชชา ต้องการแบ่งแยกว่าเราว่าเขา ว่ามีคนทำ มีผู้พายเรือ เราจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ต่อเมื่อเราเริ่มเข้าใจเรื่องว่าไม่มีใครพายเรือ แต่การที่เราเกิดวิชชาว่าไม่มีใครพายเรือ อันนั้นไม่ได้หมายความว่า เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยให้เรือมาชนท้ายเรา มันเป็นคนละประเด็น คนละเรื่อง แต่เราจะไม่เสียเวลากับการโกรธคนนั้นโกรธคนนี้หรือเสียพลัง จิตใจที่โกรธพยาบาทเป็นจิตใจที่โง่ ความโกรธเกิดจากอวิชชา และปรากฏในลักษณะของความโง่ ที่ว่าโง่นั้นเพราะอะไร เพราะว่าจิตใจที่โกรธมองไม่เห็นตามความเป็นจริง จิตใจที่ปราศจากกิเลสเท่านั้นที่มีคุณสมบัติรู้เห็นตามความเป็นจริง

พระอาจารย์ชยสาโร

3,208







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย