พอปัญหามา เราก็ได้ฝึกปัญญา พอปัญญามา ปัญหาก็หมด
กระตุ้นเร้าให้เด็กพัฒนาปัจจัยภายในของตัวเขาเอง ให้รู้จักเอาดีเอาประโยชน์ได้จากประสบการณ์และสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง แม้แต่ที่เลวที่สุด เฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกโยนิโสมนสิการ ที่จะเป็นปัจจัยตัวเอกในการพัฒนาปัญญา พูดสั้นๆ ว่า ให้เด็กพัฒนาความสามารถที่จะเอาประโยชน์ได้แม้จากสิ่งที่เลวที่สุด
ยกตัวอย่างว่า เด็กไปเจอทุกข์เจอปัญหาเจออะไรไม่ดีไม่ชอบ ต้องสามารถพลิกให้เป็นดีให้ได้ หรือเอาประโยชน์จากมันให้ได้ ไม่ใช่ไปเจอทุกข์ก็จับเจ่าเหงาหงอยแล้วก็ท้อแท้ ได้แต่ซ้ำเติมตัวเอง แต่ตรงข้าม ถ้าเจอทุกข์ ก็มองว่า อ๋อ... เราเจอแล้ว บททดสอบหรือแบบฝึกหัดใหญ่ นี่นะ ถ้าเราผ่านเจ้าทุกข์หรือปัญหานี้ไปได้เราจะเข้มแข็ง เราจะได้ปัญญา จะได้อะไรต่ออะไรมากมาย เราจะพัฒนาตัวอีกเยอะ
คนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา เป็นนักฝึกตน จะคิดว่า ปัญหาเป็นที่ลับปัญญา พอปัญหามา เราก็ได้ฝึกปัญญา พอปัญญามา ปัญหาก็หมด และยิ่งยาก ยิ่งได้มาก คือ อะไรที่ยาก ก็เป็นตัวที่ช่วยให้เราได้ฝึกตนเองมาก
เด็กที่ฝึกตนดีแล้ว พัฒนาได้ผล จะมีชีวิตที่เป็นสุขได้เสมอ เขาอยู่ในโลกที่มันไม่เป็นไปตามใจของเรา ก็ไม่ว่าอะไร แม้แต่เจอสิ่งที่ไม่ดีไม่ชอบ ก็เอาดีเอาประโยชน์จากมันได้ แม้ในความทุกข์ก็หาความสุขได้ คนที่เก่งจริงต้องหาความสุขได้แม้ในความทุกข์และเอาประโยชน์ได้จากปัญหา และมองเห็นประโยชน์แม้ในความทุกข์ ก็อย่างที่พูดแล้วว่า คนที่ตกทุกข์เจอปัญหาแล้ว ไม่จับเจ่า ไม่ท้อแท้ ไม่ถอยเสีย พยายามเรียนรู้จากทุกข์และเพียรแก้ปัญหา เขาจะพัฒนาอีกมากมายจากการที่ผ่านทุกข์ผ่านปัญหานั้นไปได้
หนังสือ สยามสามไตร
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)