บรรยายธรรมและฝึกปฏิบัติกรรมฐานแบบทิเบต
อานุภาพของจิตใจ (Power of the Mind)
วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่เก็บค่าลงทะเบียน มีอาหารว่างบริการ
หลักการและเหตุผล
มูลนิธิพันดาราได้จัดกิจกรรมภาวนา บรรยายธรรม เสวนาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและประชุมทางวิชาการในหัวข้อเกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณและยุคสมัยที่เราดำรงอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตลอดนับแต่มีการจัดตั้งมูลนิธิในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติธรรม นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะจากทิเบตหิมาลัย และเพื่อให้สังคมได้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆ เช่น ความเมตตากรุณา ความปรองดองกัน อันจะทำให้เกิดสันติสุขและสันติภาพที่ยั่งยืน
ในปี ๒๕๕๖ นี้ เราจะเริ่มกิจกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยบรรยายพิเศษและฝึกปฏิบัติกรรมฐานในหัวข้อ “อานุภาพของจิตใจ” (Power of the Mind) ซึ่งถือว่าเป็นการทำรีทรีทวันเดียวที่ตอนเช้าเน้นการให้ความรู้ หลักการในการภาวนา ในตอนบ่ายเน้นการทำสมาธิ ผู้สนใจจึงควรเข้าร่วมกิจกรรมทั้งวันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
พระอาจารย์ผู้นำภาวนาได้แก่ ลาตรี เกเช ญีมา ทรักปา ริมโปเช ธรรมาจารย์ด้านการทำสมาธิแบบทิเบตโดยเฉพาะในสายซกเช็น (Dzogchen) ผู้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมในหลายประเทศทั่วโลก
เกี่ยวกับหัวข้อการบรรยาย
ในทางพระพุทธศาสนา จิตมีอานุภาพยิ่งใหญ่มาก มีคำกล่าวในพระธรรมบทว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจนำหน้า มีใจเป็นใหญ่ และสำเร็จขึ้นด้วยใจ” ดังนั้น การฝึกจิตเพื่อให้เราเป็นนายของจิต ไม่ใช่ให้จิตมาเป็นนายเราจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ จิตใจยังเป็นตัวกำหนดการรับรู้ของเรา และจริงๆแล้วเป็นตัวกำหนดว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นอย่างไร หากเรามีจิตใจที่ดี ก็แน่นอนว่าโลกและสิ่งแวดล้อมของเราจะไปในทางที่ดี แต่หากจิตใจของเราไม่ดีเช่น ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ก็จะทำให้เราตกอยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงสนใจการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตเป็นอย่างยิ่ง
พระอาจารย์ญีมา ทักปา ริมโปเช ก็จะมานำภาวนา ชี้ให้เห็นความสำคัญและอานุภาพของจิตใจ รวมถึงสอนวิธีการฝึกจิตและการทำสมาธิแบบพุทธทิเบตอีกด้วย
วัตถุประสงค์
๑. อบรมทางวิชาการเกี่ยวกับอานุภาพของจิตใจ และความสำคัญของการฝึกจิตในชีวิตประจำวัน
๒. นำเสนอกิจกรรมทางธรรมะและวิชาการสู่ประชาชน
๓. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ และสร้างความเข้าใจระหว่างกันระหว่างประเพณีทางพระพุทธศาสนาของไทยและทิเบต
รูปแบบ
ช่วงเช้า บรรยายธรรม ซักถาม สวดมนต์ภาวนา
ช่วงบ่าย ฝึกปฏิบัติ มนตราภาวนา ซักถาม
บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
ลงทะเบียน
สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ที่
1000tara@gmail.com ภายในวันที่ 13 มีนาคม 2556 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดอาหารกลางวัน