พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ ซึ่งไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ "โกณทัญญะ" เมื่อเจริญวัยแล้วได้เข้าศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทและรู้ลักษณะมนต์ คือ ตำราทายลักษณะ
ในคราวที่พระมหาบุรุษประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะตามพระราชประเพณี ได้คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน ในจำนวนพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะของพระมหาบุรุษ ในขณะนั้น โกณฑัญญะ พราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญมาในงานและท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเลือก
โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด ในบรรดาที่ได้รับการคัดเลือทั้งหมด พราหมณ์ทั้ง ๗ คน เมื่อตรวจดูลักษณะของพระมหาบุรุษแล้วทำนายไว้เป็น ๒ ลักษณะ
ดังนี้
๑. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๒. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก
ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์นั้นมีความแน่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวชแน่นอน จึงทำนายไว้เป็นลักษณะเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช และจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกแน่แท้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โกณฑัญญพราหมณ์มีความตั้งใจว่า ถ้าพระองค์เสด็จออกทรงผนวชเมื่อไร ถ้าตนเองยังมีชีวิตอยู่จะออกบวชตามเมื่อนั้น
ในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้วและทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ (ทุกรกิริยา คือ การกระทำที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง หรือที่เรียกว่า การทรมานตนเอง เช่น อดอาหาร)
โกณฑัญญพราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น จึงชักชวนพราหมณ์ ๔ คน คือ ๑. วัปปะ ๒. ภัททิยะ ๓. มหานามะ ๔. อัสสชิ เรียกว่า "ปัญจวัคคีย์" พราหมณ์ทั้ง ๕ คน ได้ติดตามพระองค์เพื่อคอยปรนนิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใดแล้ว จักได้เทศนาสั่งสอนตนเอง ให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง
เมื่อพระองค์ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเต็มที่ประมาณ ๖ ปีแล้ว พระองค์ทรงสันนิษฐานว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ ทรงตั้งพระทัยว่าจะทำความเพียรทางใจ จึงทรงเลิกการกระทำทุกรกิริยานั้นเสีย
ส่วนปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าคิดว่า พระองค์ ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้วจึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา เป็นคนแรก อันดับแรกพระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
๑. อาฬารดาบส กาลามโคตร
๒. อุททกดาบส รามบุตร
ซึ่งพระองค์ได้อาศัยศึกษาลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว
ลำดับต่อมาทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์ ที่เคยเฝ้าปฏิบัติอุปัฏฐากพระองค์มา
ครั้นทรงดำริอย่างนี้ก็เสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะเดียวกันพวกปัญจวัคคีย์ได้เห็น พระองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่าพระองค์เสด็จมาแสวงหาคนอุปัฏฐาก จึงได้ตกลงกันว่าพระสมณโคดมนี้คลายจากความเพียร มาเป็นผู้มักมากเสียแล้วเสด็จมาที่นี่ พวกเราไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และอย่ารับบาตร จีวร ของพระองค์เลย จะปูอาสนะ ที่นั่งไว้เท่านั้น ถ้าพระองค์ทรงมีความประสงค์ก็จะประทับนั่งเอง
ครั้นเมื่อ พระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้วอาศัยความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์มาก่อน ได้บรรดาลให้ลืมกติกานัดหมาย ที่ทำกันไว้ทั้งหมด พากันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังที่เคยปฏิบัติมา แต่ก็ยังมีการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง สนทนากับพระองค์ ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ
พระองค์ตรัสบอกว่าเราได้ตรัสรู้ "อมฤตธรรม" ด้วยตัวของเราเอง (อมฤตธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่สูญหาย อยู่คู่โลกตลอดไป) ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจักแสดงให้ฟัง
เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ที่เราสั่งสอนแล้ว อีกไม่ช้าจักได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น พวกปัญจวัคคีย์ได้กล่าว คัดค้านถึงสองสามครั้งว่า พระองค์คลายจากความเพียรเสียแล้ว จักบรรลุอมฤตธรรมได้อย่างไร
พระองค์จึงตรัสให้ระลึกถึงกาลหนหลังว่า ก่อนนี้เธอทั้งหลายได้ยินได้ฟังวาจาที่เราพูดมา เช่นนี้บ้างหรือ ไม่ พวกปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์เทศนาสั่งสอนสืบต่อไป
พระองค์ ได้ตรัสปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่ปัญจวัคคีย์ ในเวลาจบลงแห่งพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุได้เกิดขึ้นแก่โกณธัญญะ (ธรรมจักษุ หมายถึง โสดาปัตติมรรค) ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ท่านที่ได้บรรลุปัตติมรรคเรียกว่าพระโสดาบัน เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โกณธัญญะ ได้ดวงตาเห็น ธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยคำว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว คำว่า อัญญา จึงนำหน้าท่านโกณฑัญญะว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เมื่อท่าน อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ"
การอุปสมบทของอัญญาโกณฑัญญะก็สำเร็จด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ เรียกการ อุปสมบทแบบนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ซึ่งพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นองค์แรก
ต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงเทศนาให้ปัญจวัคคีย์อีก ๔ คนได้ดวงตาเห็นธรรม และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นเดียวกัน
ต่อจากนั้นพระองค์ได้เทศนาเกี่ยวกับหนทางแห่งการอบรมวิปัสนาวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ชื่อว่า "อานัตตลักขณสูตร" ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทานสำเร็จเป็น พระอรหันต์ (อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ด้วยอำนาจกิเลศ)
พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า "เป็นยอดกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตัญญู" แปลว่าผู้รู้ราตรี หมายถึง ท่านเป็นผู้เก่าแก่ ได้รับการอุปสมบทก่อนภิกษุรูปอื่นทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้รอบรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาแต่ต้น เป็นผู้มีประสบการณ์มาก
พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศศาสนา
เมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านได้ดับขันธปรินิพพาน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน