พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ภารทวาชโคตร ในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ภารทวาชมาณพ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนในลัทธิของพราหมณ์จบจบไตรเพท มีความชำนาญในวิชาไตรเพทจนได้เป็นคณาจารย์ กล่าวสอนศิลปวิทยาแก่มาณพเป็นจำนวนมากประมาณ ๕๐๐ คน
ภารทวาชมาณพนั้นเป็นผู้มีความมักมากในอาหารเที่ยวไปแสวงหาอาหารกับพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่าง ๆ คือ ในที่ ๆ ตนควรได้บ้าง ไม่ควรได้บ้าง เหตุนั้นจึงมีนามปรากฏว่า ปิณโฑลภารทวาชมาณพ
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวประกาศพระศาสนามาโดยลำดับจนถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทตั้งใจเจริญสมณธรรมในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้ บรรลุพระอรหัตตผล
ตามประวัติท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์,สมาธินทรีย์, และปัญญินทรีย์ ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาดไปสู่บริเวณวิหารปูลาดแล้ว บันลือออกซึ่งสีหนาท คือ เปล่งด้วยเสียงอันดังดุจราชสีห์ ด้วยวาจาอันองอาจว่า ยสฺส มคฺค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ แปลว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรค หรือ ผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด
ไม่ว่าท่านจะไปสู่ที่ประชุมใดก็ตาม แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น เพราะเหตุนี้เอง พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่าน ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน