ท่านพระจุนทะ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านชื่อว่า วังคันตะ และนางพราหมณีชื่อว่า สารี เกิดในหมู่บ้านชื่อนาลกะ หรือนาลันทะแคว้นมคธ กรุงราชคฤห์ เดิมท่านชื่อว่าจุนทะ
เมื่อท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย มักจะเรียกท่านว่า มหาจุนทะ ถึงแม้เรื่องราวของท่านที่มีปรากฏในปกรณ์นั้น ๆ โดยมากใช้คำว่า อายสฺมา มหาจุนฺโท แปลว่า ท่านมหาจุนทะ แต่ที่เรียกว่า จุนทสมณุทเทศก็มี ท่านเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร และท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่งเหมือนกัน
เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ท่านก็เป็นอุปัฏฐากติดตามเสด็จไปด้วย เรื่องราวของท่านมีปรากฏในปกรณ์หลายแห่ง เมื่อพิจารณาตามประวัติของท่านแล้ว สันนิษฐานได้ว่า คงเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง เช่น สัลเลขสูตร ในมัชฌิมนิกาย หน้า ๖๖ มีความย่อว่า
เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ใกล้พระนครสาวัตถี ท่านเข้าไปกราบทูลถามถึงทิฏฐิที่ประกอบด้วยคำของตน เช่น เห็นรูป เป็นตน เป็นต้น และถ้อยคำของโลก เช่น เห็นตนและโลกเที่ยง เป็นต้นว่า ภิกษุจะพึงทำอย่างไรดี จึงจะละทิฏฐินั้นได้เด็ดขาด
พระบรมศาสดาทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลสให้ท่านฟังโดยสิ้นเชิง ท่านพระมหาจุนทะมีความปลาบปลื้มใจ อนุโมทนารับภาษิตของพระพุทธองค์ไปประพฤติปฏิบัติ
เรื่องที่ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุโดยตรงก็มี เช่น ที่มาในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๒๑ โดยความก็ คือ สั่งสอนไม่ให้ภิกษุถือพวกถือเหล่ากัน ยกภิกษุสองพวกนี้ขึ้นเป็นตัวอย่าง คือ พวกภิกษุผู้เรียนคันถธุระฝ่ายหนึ่ง พวกภิกษุผู้เรียนวิปัสสนาธุระฝ่ายหนึ่ง ตามปกติภิกษุย่อมจะสรรเสริญ แต่ฝ่ายของตน ติเตือนอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านสอนไม่ให้ทำเช่นนั้น สอนให้สำเหนียกศึกษาว่า ตนจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม พึงทำความพอใจในอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถสรรเสริญคุณความดีของกันและกัน ทั้งสองฝ่าย
ท่านพระมหาจุนทะนั้น เมื่อครั้งพระสารีบุตรเถระ ผู้พี่ชาย ไปนิพพานที่บ้านเดิมเพื่อโปรดมารดา ท่านได้ติดตามไปด้วย และได้รวบรวมบาตร และจีวรพร้อมทั้งอัฐิธาตุ ของท่านพระสารีบุตร นำมาถวายพระบรมศาสดาด้วย
เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่โดยกาลสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน