ค้นหาในเว็บไซต์ :
พระยสเถระ

ประวัติ : พระยสเถระ

   พระยสเถระ ท่านเป็นบุตรของเศรษฐี ในกรุงพาราณสี ซึ่งมีเรือน ๓ หลังเป็นที่อยู่ในสามฤดู ครั้งหนึ่งในช่วงของฤดูฝน ยสกุลบุตรอาศัยอยู่ในเรือนซึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มีสตรีล้วนประโคมดนตรีบำรุงบำเรอ ในคืนหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อนหมู่ชนที่เป็นบริวาร

    เมื่อตื่นขึ้นมาตอนใกล้รุ่ง จึงเห็นหมู่ชนที่เป็นบริวารของตนนอนหลับมีอาการพิกลต่าง ๆ ไม่เป็นที่พอใจปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ยสกุลบุตรเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย จึงอุทานออกมาว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" สวมรองเท้าเดินออกจากประตูเมือง มุ่งหน้าไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

     ในเวลาจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรเปล่งอุทานเดินใกล้เข้ามา จึงตรัสเรียกว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน"

    ยสกุลบุตรได้ยินเสียงตรัสเรียกอย่างนั้นแล้วจึงถอด รองเท้าเดินเข้าไปถวายบังคม นั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า "อนุปุพพิกถา" เพื่อฟอกจิตใจยสกุลบุตรให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ต่อมาพระองค์ทรงแสดง "อริยสัจ ๔" ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ สถานที่นั้นนั่นเอง ในภายหลังได้พิจารณาภูมิธรรมที่ตนเห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์

     ส่วนมารดาของยสกุลบุตร (มารดาของยสกุลบุตร คือนางสุชาดา ผู้เคยถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาบุรุษก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) พอรุ่งเช้าก็ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูก จึงบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ

    เศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาในทิศทั้งสี่ ส่วนตนเองก็เที่ยวตามหาอีกทางหนึ่งด้วย แต่บังเอิญเดินทางมุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายวางอยู่ ณ ที่นั้นจึงตามไป

    เมื่อเศรษฐีเดินไปถึงแล้วพระบรมศาสดาจึงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในที่สุด แห่งพระธรรมเทศนา เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอ ถึงพระองค์ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึก ขอพระองค์จงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

    เศรษฐีนับได้ว่าเป็นอุบาสกที่อ้างเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็น สรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก

     เศรษฐี ผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่า ยสกุลบุตรเป็นผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว จึงขอร้องให้กลับไปเพื่อให้มารดาคลายจากความโศกเศร้าเสียใจ ภายหลังเมื่อทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่สามารถจะหวนกลับไปครอบครองเรือนบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน จึง ทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับยสะเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จรับบิณฑบาตในเวลาเช้า พระองค์ทรงรับด้วยอาการดุษณียภาพ (ดุษณีภาพ คือการรับนิมนต์ของพระบรมศาสดา ได้แก่ ทรงนิ่ง)

    เศรษฐีทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์ จึงลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วก็หลีกไป เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระบรมศาสดา พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เถิด" ในที่นี่ไม่ได้ตรัสว่า "เพื่อจะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ" เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

     เช้าวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดามีพระยสเป็นปัจฉาสมณะ ตามเสด็จไปรับบิณฑบาตในเรือนของเศรษฐี พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ แก่สตรีทั้งสอง คือ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ปรากฏว่าสตรีทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม แสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึก และนับได้ว่าสตรีทั้งสองเป็นอุบาสิกาที่เกิดขึ้นในโลกก่อนกว่า หญิงอื่นใด เมื่อเสร็จภุตกิจ ตรัสเทศนาสั่งสอนชนทั้งสามแล้วพรองค์จึงเสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

     การอุปสมบทของพระยสะในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์สุขให้หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะว่าท่านยังสามารถ ชักจูงผู้อื่นเข้ามาอุปสมบทด้วย เช่น สหายของท่านอีก ๕๔ คน

    ท่านได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยประกาศพระศาสนาในตอน ปฐมโพธิกาลอีกองค์หนึ่ง

    เมื่อดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย