ท่านพระปิงคิยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย ์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฏิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์
ปิงคิยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ปิงคิยมาณพเป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ
ปิงคิยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนสุดท้ายว่า
ปิงคิยมาณพ : ข้าพระองค์ได้ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณ เหี่ยวย่นแล้ว ดวงตาของข้าพระองค์ก็เห็นไม่ชัดนัก หูก็ฟังไม่ชัด ขอข้าพระองค์อย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ?
ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึงสามครั้งแล้วพระองค์จะทรงแก้ จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับเทวโลกก็ดีย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้ทรงพระปรีชาเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระองค์พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น คือ จะตามไม่ทัน ?
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านเห็นว่า ชนทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ปิงคิยมาณพ : ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ เป็นสิบทิศทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ที่พระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง ไม่เคยทราบ ไม่ได้รู้แล้ว แม้แต่น้อยหนึ่งมิได้มีในโลก ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในชาตินี้เสีย ?
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์อันตัณหาครอบงำ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น อันชราถึงรอบด้านแล้ว เหตุนั้น ท่านจงอย่าประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาจบลงแล้ว ปิงคิยมาณพได้เพียงดวงตาเห็นธรรม คือ ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะเวลาฟังปัญหาพยากรณ์ มีจิตฟุ้งซานคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะความรักใคร่ในอาจารย์จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้ ในลำดับนั้น ปิงคิยมาณพพร้อมกับ มาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ททรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ท่านพระปิงคิยะได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดา กลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหาสิบหกข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ในพระธรรมวินัย
ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล)
ท่านพระปิงคิยดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน