พระอุบาลีเป็นบุตรของนายช่างกัลบกในนครกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า อุบาลี เมื่อเจริญเติบโตแล้ว เจ้าศากยวงศ์ทั้ง ๕ พระองค์ ทรงโปรดปรานมาก จึงได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์
ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติ ที่กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์
ครั้งนั้น ศากยกุมารทั้ง ๕ พระองค์ คือ ภัททิยะ, อนุรุทธะ, อานันทะ, ภคุ, และกิมพิละ รวมทั้งเทวทัต ซึ่งเป็นเจ้าในโกลิยวงศ์ เข้าด้วยเป็น ๖ เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลี ผู้เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามออกไปด้วย พากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท แต่ก่อนจะอุปสมบทพวกเจ้าศากยะเหล่านั้นทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้อุบาลีบวชก่อน
เมื่ออุบาลีอุปสมบทแล้วได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน
ต่อมาท่านไม่ประมาทตั้งใจบำเพ็ญความเพียร ไม่ช้าไม่นานก็ได้ บรรลุพระอรหัตตผลเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และท่านได้ศึกษาทรงจำระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะทำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยได้เป็นอย่างดี ในข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นผู้วินิจฉันอธิกรณ์ ๓ เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ, อัชชุกวัตถุ, และกุมารกัสสปวัตถุ
ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย
เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนา พระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฎก เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ดี
ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน