ท่านพระมหาปันถก เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทาง มีน้องชายชื่อ ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทางเหมือนกัน ท่านเป็นพี่ชาย มีคำว่า มหา ข้างหน้า จึงเป็นมหาปันถก ผู้เป็นน้องชาย เติมคำว่า จูฬ ข้างหน้า จึงเป็นจูฬปันถก
มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยเป็นสาวแล้ว บิดามารดาป้องกันรักษาอย่างเข้มงวด ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่เจ็ด แต่ธิดานั้นเป็นคนโลเลมีนิสัยไม่แน่นอนในผู้ชาย จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน ต่อมากลัวคนอื่นจะรู้จึงชวนกันหนีออกจากปราสาทไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่นที่คนไม่รู้จักตน ภายหลังภรรยาตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์แก่ใกล้จะคลอดจึงตกลงกับสามีว่าจะไปคลอดที่บ้านเดิม ส่วนสามีกลัวบิดามารดาลงโทษ แต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงอาสาว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผัดวันประกันพรุ่งว่า พรุ่งนี้ก่อนค่อยไป จนล่วงไปหลายวัน ภรรยาเห็นเช่นนั้นจึงรู้ถึงความประสงค์ของสามี
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้านจึงสั่งคนผู้คุ้นเคยกันอยู่ในบ้านใกล้เคียงกัน ให้บอกเรื่องที่ตนไม่อยู่แก่สามีหนีออกจากเรือนเดินไปตามหนทาง พอถึงระหว่างทางก็คลอดบุตรเป็นชาย ส่วนสามีเมื่อกลับบ้านไม่เห็น ภรรยาสืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิมจึงออกติดตามไปทันในระหว่างทาง แล้วพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า ปันถก กาลต่อมาก็คลอดบุตรโดยทำนองนั้นอีก จึงตั้งชื่อว่า จูฬปันถก เพราะเกิดทีหลัง ตั้งชื่อบุตรคนแรกว่า มหาปันถก เพราะเกิดก่อน
เมื่อมหาปันถกเติบโตแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกันได้ยินเด็กพวกนั้นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียก จึงไปถามมารดาว่า แม่ครับ เด็ก ๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่า ตาบ้าง ยายบ้าง ก็ญาติของเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ ? มารดาของท่านตอบว่า ลูกเอ๋ย ญาติของเจ้าในที่นี้ไม่มีหรอก แต่ตาของลูกชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้นญาติของเรามีมากมาย ท่านจึงถามต่อไปว่า ก็แล้วทำไมแม่ไม่ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้น ฝ่ายมารดาไม่บอกความจริงแก่ลูก ลูกจึงรบเร้า ถามอยู่บ่อย ๆ จนเกิดความรำคาญ ปรึกษากับสามีว่า พวกลูกของเรารบเร้าเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดาเห็นลูกแล้ว จะฆ่าจะแกงเชียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจะพาลูกทั้งสองไปเมืองราชคฤห์
เมื่อถึงแล้วพักอาศัยที่ศาลาหนังหนึ่งใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกธนเศรษฐีผู้เป็นบิดา พอบิดารู้ว่าลูกสาวพาหลายชายสองคนมาเยี่ยม ธนเศรษฐีมี ความแค้นยังไม่หายจึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียอย่ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย ถ้าต้องการอะไรก็จงถือเอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่จงส่งหลานทั้งสองมาให้ฉัน ฉันจะเลี้ยงดูเอง
สองสามีภรรยาก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้วก็กลับไปอยู่ที่เดิม ส่วนเด็กทั้งสองก็อยู่ที่บ้านของธนเศรษฐีผู้เป็นตาจนเจริญวัยขึ้น มหาปันถก เมื่อเจริญวัยได้ไปฟังเทศน์กับตาในสำนักของพระศาสดา ที่พระเวฬุวันมหาวิหารเป็นประจำ
ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธา เลื่อมใคร่จะบวชจึงบอกตา ตาก็อนุญาติให้บวช พระศาสดาจึงตรัสรับสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออาจุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็อุปสมบทเป็นภิกษุ เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนา กรรมฐานไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์.
เมื่อท่านพระมหาปันถกสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว จึงคิดว่า สมควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลอาสาจะรับหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์* พระองค์ก็ทรงอนุมัติแล้ว ประทานตำแหน่งนั้นให้แก่ท่าน
ท่านได้ทำงานในหน้าที่นั้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี อนึ่ง ท่านพระมหาปันถกนั้นเป็นผู้อันพระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญภาวนา
เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.
*ภัตตุเทศก์ เจ้าหน้าที่จัดแจงภัต