๒.๑ หมวดธรรมของคฤหัสถ์ ๙
๒.๑.๑ หลักธรรมเกี่ยวกับบุญและบาป
วัสสสตปัญหา ๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลผู้ทำอกุศลกรรมถึง ๑๐๐ ปี
เมื่อใกล้จะตาย กลับได้สติระลึกถึงพระพุทธคุณ จักเกิดในสวรรค์ได้หรือไม่
อธิบายว่า บุคคลกระทำอกุศลกรรมจนถึงอายุ๑๐๐ ปีเมื่อใกล้จะตาย ระลึกถึงพระ
พุทธคุณเพียงครั้งเดียว หลังจากตายก็ไปเกิดในสวรรค์ได้ และผู้ที่ทำปาณาติบาตแม้เพียงครั้ง
เดียว ก็ย่อมไปเกิดในนรกได้เหมือนกัน ดุจก้อนหินก้อนเล็ก ๆ ที่เขาวางไว้บนน้ำย่อมจมลงไป
ในน้ำทันที แต่ถ้านำมาวางไว้บนเรือลำใหญ่แม้ก้อนหินจะมีหลายก้อนก็ไม่จม ก้อนหินเปรียบ
เหมือนอกุศลกรรม ส่วนเรือเปรียบเหมือนกุศลกรรม
ปาปปุญญพหุตรปัญหา ๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุญกับบาป อะไรมีกำลัง
มากกว่ากัน
อธิบายว่า บุญมีกำลังมากกว่าบาป เพราะคนทำบาปย่อมได้รับความเดือดร้อนใจ
และบาปก็ไม่เป็นที่เจริญใจ มีแต่จะทำให้เกิดความหดหู่ใจ ส่วนคนทำบุญย่อมไม่ได้รับความ
เดือดร้อนใจ มีแต่ความเบิกบานใจ และเกิดปีติซึ่งเป็นเหตุทำให้จิตใจสงบ เมื่อจิตสงบก็จะพบ
ความสุข จิตที่เป็นสุขก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
บุญจึงมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว
ชานอชานปัญหา ๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลรู้อยู่แล้วจึงกระทำ
บาปกรรม กับบุคคลไม่รู้อยู่แล้วจึงกระทำบาปกรรม ใครจะมีบาปมากกว่ากัน
อธิบายว่า บุคคลที่รู้อยู่ว่าบาปแล้วจึงทำลงไปย่อมเป็นบาปน้อยกว่า ส่วนผู้ไม่รู้อยู่
ว่าบาปแล้วจึงทำลงไปย่อมเป็นบาปมากกว่า เปรียบเหมือนบุคคลรู้ว่าก้อนเหล็กที่ถูกไฟเผา
เป็นของร้อน เมื่อจะเอามือจับก้อนเหล็ก ก็หาวิธีจับที่จะทำให้ความร้อนเผาฝ่ามือน้อยที่สุด
ส่วนผู้ที่ไม่รู้ว่าก้อนเหล็กนั้นร้อนแล้วจับเต็มฝ่ามือ ก็จะทำให้ความร้อนแผดเผาฝ่ามืออย่าง
เต็มที่
อชานโตปาปกรณอปุญญปัญหา ๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลผู้ไม่รู้อยู่
แล้วจึงกระทำปาณาติบาต ย่อมยังอกุศลที่มีกำลังกล้าให้เกิดขึ้น เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าจึง
ตรัสว่า อาบัติย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้ไม่รู้ ๕
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสพุทธพจน์นี้ว่า บุคคลผู้ไม่รู้แล้วจึงกระทำปาณาติบาต
ย่อมยังอกุศลมีกำลังแก่กล้าให้เกิด ก็เพื่อให้พุทธบริษัทได้สำรวมตนไม่หลงกระทำอกุศลกรรม
มีปาณาติบาตเป็นต้น ส่วนในพระวินัยบัญญัติ พระองค์ตรัสว่า อาบัติย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้ไม่รู้
ก็เพราะในพระพุทธพจน์นี้มีเนื้อความพิเศษอยู่ คือ อาบัติมีทั้งที่เป็นสัญญาวิโมกข์(พ้นด้วย
สัญญา) ทั้งที่เป็นโนสัญญาวิโมกข์(ไม่พ้นด้วยสัญญา) พระองค์ทรงปรารภอาบัติที่เป็นสัญญา
วิโมกข์(พ้นด้วยสัญญา) จึงตรัสไว้อย่างนั้น
มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา ๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก
เพราะสัมปชานมุสาวาท คือ การกล่าวเท็จในขณะที่รู้ตัว เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าจึงตรัส
ภายหลังอีกว่า ภิกษุต้องอาบัติเบาเพราะสัมปชานมุสาวาท อาจแสดงอาบัติต่อหน้าภิกษุรูป
เดียวได้เพื่อให้พ้นจากอาบัตินั้น
อธิบายว่า พระพุทธพจน์ทั้งสอง เป็นคำแสดงโทษหนักและเบาตามอำนาจของวัตถุ
เพราะภิกษุกล่าวเท็จ หลอกลวงทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ หรือถึงแก่ความตาย ต้องอาบัติปาราชิก
แต่ถ้าภิกษุกล่าวเท็จแล้ว ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหายเป็นอาบัติเบา สามารถกระทำคืนได้ด้วยการ
แสดงอาบัติต่อหน้าภิกษุอีกรูปหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษทำร้ายผู้อื่นด้วยฝ่ามือ พึงได้รับโทษ
โดยการถูกปรับกหาปณะหนึ่ง เพราะมิได้ขอขมาคืน ส่วนบุรุษผู้ลอบทำร้ายพระมหากษัตริย์
ด้วยฝ่ามือ พึงได้รับโทษโดยการถูกตัดมือ ตัดเท้า ตัดศีรษะ หรือถูกประหารถึง ๗ ชั่วตระกูล
อัตตนิปาตนปัญหา ๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ภิกษุไม่พึงกระทำการปลงชีวิต
ตัวเอง เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เพื่อความขาดสิ้นไปแห่งชาติ ชรา พยาธิ
มรณะ โดยปริยายเป็นอันมาก และทรงสรรเสริญภิกษุผู้ก้าวล่วง ชาติชรา พยาธิ มรณะ
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อความขาดสิ้นไปแห่งชาติ ชรา พยาธิ
มรณะ โดยปริยายเป็นอันมาก ในการแสดงธรรมนั้น พระองค์ทั้งทรงห้ามทั้งทรงชักชวน
เพราะเหตุในการแสดงธรรมของพระองค์มีอยู่และเพราะภิกษุผู้มีศีลบริบูรณ์มีคุณเป็นอันมาก
สามารถทำลายกิเลสของตนได้ และสามารถสั่งสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าใจในธรรมได้
พระองค์จึงทรงห้ามไม่ให้ภิกษุปลงชีวิตตนเอง สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยทุกข์อยู่ในวัฏสงสาร
เพราะอาศัยขันธปัญจก ๘ ถ้าบุคคลปราศจากขันธปัญจกก็ย่อมเป็นสุข เพราะฉะนั้น
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงคุณแห่งความไม่มีขันธปัญจก และภัยในขันธปัญจก จึงทรงชักชวน
สาวกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เพื่อความก้าวล่วงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ด้วยประการ
ทั้งปวง
ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)