๒.๓.๒ สภาวะของพระนิพพาน
ปรินิพพานปัญหา ๒๖๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลผู้ที่ไม่ปฏิสนธิอีก
จะเสวยทุกขเวทนาหรือไม่
อธิบายว่า บุคคลผู้ที่ไม่ปฏิสนธิอีก บางคนก็เสวย บางคนก็ไม่เสวย คนที่เสวยย่อม
เสวยเวทนาทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางใจ เพราะสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนาทาง
กายยังไม่สิ้นไป ทำให้ต้องเสวยทุกขเวทนาทางกาย ส่วนสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
ทุกขเวทนาทางใจสิ้นไปแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาทางใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พระอรหันต์ย่อมเสวยเวทนาทางกายประการเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ ๒๖๖ อย่างไรก็ตาม
แม้พระอรหันต์จะเสวยทุกขเวทนาทางกาย แต่ท่านก็ไม่รีบปรินิพพาน เพราะไม่มีความยินดี
หรือความยินร้าย อนึ่ง ท่านไม่ทำขันธ์ที่ยังไม่ถึงเวลาให้ตกล่วงไป แต่รอคอยให้กาลเวลามาถึง
พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะ
อยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้ เราไม่อยากตายไม่อยากเป็นอยู่ แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง ๒๖๗
นิโรธนิพพานปัญหา ๒๖๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระนิพพาน คือ นิโรธ
อธิบายว่า พระนิพพาน คือ การดับกิเลสอย่างสิ้นเชิง ปุถุชนคนพาลยินดีเพลิดเพลิน
หมกมุ่นอยู่ในอายตนะภายในและภายนอก ถูกกระแสตัณหาพัดพาให้ลอยไป ย่อมไม่พ้น
จากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์ส่วนอริย
สาวกผู้สดับแล้วย่อมไม่ยินดีเพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่นอยู่ในอายตนะภายในและภายนอก เมื่อไม่
ยินดีเพลิดเพลิน ตัณหาก็ดับไป เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับไป ภพ
จึงดับ เพราะภพดับไป ชาติจึงดับ เพราะชาติดับไป ชราและมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสจึงดับไปด้วย ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้ด้วยอุบายอย่างนี้
เพราะฉะนั้น นิพพาน คือ นิโรธ
นิพพานสุขภาวชานนปัญหา ๒๖๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลที่ยังไม่ได้
บรรลุพระนิพพาน จะรู้ว่าพระนิพพานเป็นสุขหรือไม่
อธิบายว่า บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุพระนิพพาน ย่อมรู้ว่าพระนิพพานเป็นสุข
เปรียบเหมือนคนมีร่างกายสมบูรณ์ไม่ได้พิกลพิการ ย่อมรู้ว่าการถูกตัดมือตัดเท้าเป็นความ
ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เหตุที่รู้เพราะฟังเสียงครวญคราง หรือเห็นอาการดิ้นรนของคนที่
ถูกตัดมือตัดเท้า เพราะฉะนั้น แม้บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุพระนิพพาน แต่ก็รู้ว่าพระนิพพาน
เป็นสุข เพราะฟังเสียงของคนที่บรรลุพระนิพพาน
ปรินิพพุตานังเจติเยปาฏิหาริยปัญหา ๒๗๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ปาฏิหาริย์มี
ที่จิตกาธานของพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานทุกจำพวก หรือมีเฉพาะบางจำพวกเท่านั้น
อธิบายว่า ปาฏิหาริย์ที่จิตกาธานของพระอรหันต์ผู้ปรินิพพาน ย่อมมีเป็นบางพวก
เท่านั้น และปาฏิหาริย์ย่อมเกิดขึ้นเพราะการอธิษฐานของบุคคล ๓ จำพวก คือ
(๑) พระอรหันต์อธิษฐานเอง เพื่อความเอ็นดูเทวดาและมนุษย์ว่า ขอปาฏิหาริย์ที่
จิตกาธาน จงเกิดมีอย่างนี้
(๒) เทวดาแสดงปาฏิหาริย์ที่จิตกาธานของพระอรหันต์ เพื่อความเอ็นดูแก่มนุษย์
ว่า พระสัทธรรมจักเป็นธรรมอันสัตว์ประคับประคองไว้เป็นนิตย์ ด้วย
ปาฏิหาริย์นี้
(๓) สตรีหรือบุรุษผู้มีศรัทธาเลื่อมใส มีปัญญา คิดโดยแยบคายแล้วบูชาด้วยของ
หอม ดอกไม้ ผ้า หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิษฐานว่า ขอปาฏิหาริย์จงมีเถิด
ถ้าคนไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐาน ปาฏิหาริย์ที่จิตกาธานของพระขีณาสพผู้ได้อภิญญา ๖
ประการ ๒๗๑ บรรลุความชำนาญแห่งจิต ก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ปาฏิหาริย์จะไม่
ปรากฏขึ้น เทวดาและมนุษย์เมื่อเพ่งพิจารณาถึงความประพฤติที่บริสุทธิ์ดีแล้วย่อมเชื่อว่า
พระพุทธบุตรปรินิพพานดีแล้ว
นิพพานัสสอทุกขมิสสภาวปัญหา ๒๗๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระนิพพาน
เป็นสุขส่วนเดียว หรือยังเจือปนด้วยทุกข์
อธิบายว่า พระนิพพานเป็นสุขโดยส่วนเดียว ไม่ได้เจือปนด้วยทุกข์ บุคคลผู้
แสวงหาพระนิพพานทำกายและจิตให้ได้รับความลำบาก ด้วยการสำรวมรักษาอิริยาบถทั้ง ๔
คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และสำรวมในอาหาร ขจัดความง่วงเหงาหาวนอน ทำอายตนะให้ลำบาก
สละทรัพย์สินและญาติมิตรผู้เป็นที่รัก เมื่อเขากำจัด ปิดกั้นความเจริญแห่งอายตนะเหล่านั้น
ทำให้กายและจิตเกิดความเร่าร้อน ซึ่งเป็นเหตุให้เสวยทุกขเวทนาทางกายและทางใจ
ส่วนบุคคลผู้มีความสุข ทำอายตนะให้เพลิดเพลินยินดีด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ และยังใจให้เจริญยินดีด้วยการตรึกและการกระทำไว้ในใจถึงอารมณ์ที่ดีและไม่ดี
ที่งามและไม่งาม อันน่าชอบใจ บุคคลพึงทราบว่าความทุกข์ทางกายและทางใจของผู้บำเพ็ญ
เพียร เป็นเบื้องต้นแห่งการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเท่านั้น ไม่ใช่ความทุกข์ที่มีอยู่ใน
พระนิพพาน เหมือนความสุขในราชสมบัติ ซึ่งมีแต่สุขโดยส่วนเดียว ไม่ได้เจือปนด้วยทุกข์
ถึงแม้พระราชาจะยกทัพไปปราบข้าศึกตามชายแดน ต้องเสด็จไปประทับแรมตามป่าเขา
ถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน ทำให้ได้รับความลำบากพระวรกายเป็นอย่างมาก เมื่อกระทำการรบกับ
ข้าศึก ก็ยังไม่แน่พระทัยว่าจะมีพระชนม์ชีพรอดหรือไม่การรบกับข้าศึก เป็นเบื้องต้นแห่งการ
แสวงหาความสุขในราชสมบัติเท่านั้น ไม่ใช่ความสุขในราชสมบัติ
นิพพานปัญหา ๒๗๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลสามารถที่จะแสดงรูป
สัณฐาน วัย หรือประมาณ แห่งพระนิพพาน โดยอุปมา โดยเหตุโดยปัจจัย โดยนัย ได้หรือไม่
อธิบายว่า พระนิพพานเป็นธรรมชาติไม่มีส่วนเปรียบ บุคคลไม่สามารถที่จะแสดง
รูป สัณฐาน วัย หรือประมาณของพระนิพพานโดยอุปมา โดยเหตุ โดยปัจจัย โดยนัยได้
ปัญหาอย่างนี้ถือว่าเป็นปัญหาไม่สมควรยกขึ้นมาถาม เพราะเป็นข้อยกเว้น เหมือนมหาสมุทร
ซึ่งเป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่ ถ้าจะมีคนถามว่าน้ำในมหาสมุทรมีเท่าไร และสัตว์ที่อาศัยอยู่
มหาสมุทรมีเท่าไร ปัญหาอย่างนี้ไม่ใช่วิสัยที่จะพึงตอบ แม้บุคคลผู้มีฤทธิ์บรรลุความชำนาญ
แห่งจิต จะพึงคำนวณนับน้ำในมหาสมุทร และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจแสดงรูป
เป็นต้นแห่งพระนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นได้พระนิพพานเป็นสภาวะที่มีอยู่จริง ไม่ได้มีอยู่เพียงในอุดมคติของคนทั่วไปเท่านั้น
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบย่อมรู้ว่าพระนิพพานมีอยู่จริง แม้บุคคลธรรมดาที่ยังไม่บรรลุพระนิพพาน
ก็เชื่อว่าพระนิพพานมีอยู่จริง เหมือนไฟที่ดับไปแล้วย่อมไม่รู้ว่าไฟอยู่ที่ไหน เมื่อบุคคลนำไม้
สองอันมาสีกันเข้าไฟก็ปรากฏขึ้นมา และพระนิพพานไม่สามารถที่จะกำหนดได้ด้วย
รูปพรรณ สัณฐาน อีกทั้งไม่สามารถที่จะอธิบายให้คนอื่นรู้ได้นอกจากจะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ
จึงจะรู้ได้ด้วยตัวเอง
พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม คือ เป็นสภาวะที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
และเป็นสภาวะที่อยู่เหนือสังขตธรรม บุคคลสามารถบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติตามอริยมรรค
ซึ่งเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะนำไปสู่พระนิพพาน
ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)