"ความริษยา" (สมเด็จพระญาณสังวร)
"ความริษยา"
" .. แม้จะรู้ไม่ได้ว่า "ใจใครเป็นอย่างไร" แต่ก็รู้ได้แน่นอนว่า "แม้ความริษยามีในใจใครใดมาก ใจใครนั้นก็จะมีโทษมาก" ให้โทษร้ายแรงมากทั้งแก่ตนเองและทั้งแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย
ทีสำคัญควรเข้าใจความจริงประการหนึ่งว่า "ความริษยานั้นจะเกิดได้ด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ใช่ความเกลียด" แต่เป็นความรู้สึกว่า "ผู้ใดผู้หนึ่งนั้นมีดีกว่าตน เป็นที่สนใจมากกว่าตน ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญมาก จนน่ากลัวว่าจะเกินหน้าตน"
หรือไม่ก็ "เป็นความรู้สึกทำนองหมั่นไส้ใครคนใดคนหนึ่งนั้น" ความรู้สึกทำนองดังกล่าว "ที่แท้จริงคือความริษยาที่จะพาให้โลกฉิบหาย" มากน้อยหนักเบาเพียงไรขึ้นอยู่กับความแรงความอ่อนของความรู้สึกริษยา "ที่ก็คือความอิจฉาที่รุนแรงนั่นเอง"
"บางคนไม่ใช่ผู้มีความริษยา" ที่จะเป็นเหตุแห่งความฉิบหาย แต่อาจเป็นผู้ร่วมมือกับผู้มีความริษยา คือทั้งที่ความริษยาไม่ได้เกิดในใจตน "แต่หลงร่วมก่อทุกข์โทษภัยกับผู้มีความริษยาได้ ด้วยการได้ยินได้ฟังวาจาของผู้มีความริษยา ที่กล่าวร้ายผู้ถูกริษยานานาประการ แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง"
พลอยเห็นด้วยกับความไม่ดีไม่งามของผู้ถูกริษยา "เห็นสมควรที่จะมีส่วนช่วยให้เป็นที่ปรากฏความไม่ดีแก่โลก" เพื่อช่วยคนทั้งหลายในโลกให้ห่างไกลจากความไม่ดีของคนคนหนึ่งนั้น "แม้คนคนหนึ่งนั้นมีความไม่ดีจริง ย่อมไม่ถูกริษยา ย่อมไม่มีผู้ริษยา" ที่จะมุ่งให้โลกรู้เพื่อเข้าร่วมในการกีดกัน ในการทำลาย ไม่ให้คนคนนั้นอยู่อย่างได้ดีมีความสงบสุข
"ดังนั้นควรมีสติใช้ความพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าตกเป็นผู้ร่วมมือกับผู้หนึ่งผู้ใด ที่มีใจริษยา" ปรารถนาสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ที่มีฐานะน่าริษยาอย่างยิ่ง ในความรู้สึกของผู้ที่ความริษยาเกิดและเกิดอย่างรุนแรง .. "
"แสงส่องใจ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙