"แยบคายนี้แตกต่างจากอุบาย" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
.
"แยบคายนี้แตกต่างจากอุบาย"
" .. "อุบายแนะนำสอนกันได้" เช่นบอกว่าจงรักษาคุณงามความดีด้วยการรักษาศีล ดังนี้เป็นต้น "ส่วนแยบคายนั้น ไม่ทราบจพบอกอย่างไงกัน" มันต้องเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาด้วยตนเองและความรู้ความเห็นอันนั้นก็เป็นของแจ้งชัดเสียด้วย จนอุทานขึ้นมาในใจว่า "อ๋ออย่างนี้ดอกหรือ" แต่ความรู้อันนั้น จะเอาไปเผยแพร่แก่คนอื่นก็ไม่เหมือนกับที่รู้ด้วยใจของตนเอง "จะบอกคนอื่นได้ก็เพียงอุปมาอุปมัยเท่านั้น"
รวมความแล้ว "แยบคายเป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นปัจจัตตังเฉพาะตน" ผู้เกิดแยบคายขึ้นเฉพาะตนเช่นนั้นแล้ว เอาแยบคายอันนั้นไปสอนผู้อื่น ด้วยอุบายการอุปมาอุปมัยต่าง ๆ ผู้ฟังได้รับฟังคำอุปมาอุปมัยนั้นแล้ว เมื่อยังไม่เกิดแยบคายขึ้นมา ก็เอาอุบายนั้นไปสอนคนอื่นต่อ ๆ ไป
"แยบคายนี้เมื่อเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลใดแล้ว ย่อมทำบุคคลนั้น ให้สิ้นสงสัยในวิชาที่ตนได้เรียนมาก็ดี หรือตนได้ปฏิบัติมาก็ดี" เป็นอันว่าจบเพียงแค่นี้ "แต่มิได้หมาย ความว่าจบวิชาทุก ๆ ประเภท" เป็นแต่จบหรือสิ้นภูมิความรู้และความสามารถของตนในภูมินั้น ๆ เท่านั้น
เหมือนกับบุคคลที่นำภาระไป "ผู้ใดมีกำลังมากย่อมนำไปได้มาก ผู้มีกำลังน้อยย่อมนำไปได้น้อย" ตามกำลังของตน ๆ ฉะนั้น .. "
"หลักภาวนา"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี