พรหมจรรย์ คือ การไม่กำหนัดในกามคุณ (หลวงปู่เหรียญ)
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ผู้ที่ได้มาบวชจะเป็นชั่วคราวก็ตาม ถาวรก็ตาม เมื่อได้บวชมาแล้วก็พิจารณาถึงบุญวาสนาของตนว่าตนมีบุญวาสนาจึงได้มาบวช นุ่งเหลืองหรือนุ่งขาวห่มขาวนั่นไม่ใช่คนไม่มีบุญนะ นุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีลแปด รักษาศีลสำรวมอินทรีย์คือ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่ให้เกิดความยินดีในเวลาได้รับอารมณ์ที่ดี ไม่ให้ยินร้ายในเวลาได้รับอารมณ์ที่ร้าย ทำใจให้เป็นกลางอยู่ เช่นนี้นับว่าได้บุญได้กุศลไม่น้อย
นั่นแหละการรักษาศีลแปดท่านก็ว่าเทียบได้กับการประพฤติพรหมจรรย์นั้นเองแหละ ก็เป็นพรหมจรรย์นั่นเองเป็นนักบวช เพราะว่าเป็นผู้เว้นจากคนคู่ ทำตัวเป็นคนผู้เดียว นี่นะ นักบวชที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองก็เช่นเดียวกันก็ทำตนเป็นคนผู้เดียว ไม่ทำตนเป็นคนคู่อย่างชาวบ้านเขา ให้พึงเข้าใจไว้คำว่านักบวช นี่แหละจุดสำคัญแท้ๆก็คือว่า พูดกันอย่างเปิดอก ความเป็นผู้ระวังจิตของตัวเองไม่ให้กำหนัดในกามคุณทั้งห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆที่ผ่านทางตา เป็นต้น เหล่านี้นะ ไม่หลงกำหนัดไปตามรูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัสที่เป็นที่น่ารักใคร่พอใจต่างๆ นี่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ประพฤติพรหมจรรย์"
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ถ้าใครยังหลงยินดียินร้ายกับอิฎฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี อนิฎฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินร้ายดังกล่าวมานั้น พรหมจรรย์ของผู้นั้นยังเศร้าหมองอยู่ จะผ่องใสเต็มที่ยังไม่ได้
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"เมื่อศีลบริสุทธิ์”
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=57907