"ยาแก้โง่" (หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ)

 วิริยะ12  

.
 "ยาแก้โง่"

" .. ขณะที่ข้าพเจ้า(หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ) อยู่ที่ถ้ำพวงนี้ปรากฏว่าที่สงบสงัดดี "การภาวนาดีนัก จิตสงบเวลาภาวนาจิตรวมดี บางคืนจิตรวมถึงคืนละ ๓ ครั้งก็มี" ข้าพเจ้าอยู่คนเดียวที่ถ้ำพวงจนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา "ก็มีสามเณรชลิต ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นมหาชลิตอยู่ทางวัดฝั่งธนบุรีไปอยู่ด้วย" และต่อมา "หลวงปู่ขาว ได้แต่งท่านพระอาจารย์เพ็ง เตชพโล" ซึ่งต่อมาท่านไปอยู่ภูลังกาและมรณภาพที่นั่นเมื่อปี ๒๕๒๑ "ให้ไปอยู่ด้วยอีกองค์หนึ่งเป็นเพื่อนกันและรักษากัน"

อยู่ต่อมาได้มีพวกญาติโยม พ่อออก แม่ออกสีกาสาว ขึ้นไปเที่ยวชมถ้ำพวงมากขึ้น บางคนก็ไปส่งเสบียงอาหาร "ญาติของสามเณรคนหนึ่งเป็นหญิงสาว" ไปส่งอาหารถวายพระทุกวัน "เขาไม่ได้ส่งแต่อาหารหากแต่ส่งสายตามาให้ด้วยทำตาหวานหยาดเยิ้ม" สายตาของเขาลิด ๆ แรก ๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร "แต่มองตาหวานทุกวัน ๆ ก็เกิดความรักความยินดีในหญิงนั้นเห็นนัยน์ตาของเขาว่างามว่าสวย" ความจริงเขาอาจจะมีกิริยาอ่อนหวานทำตาหวานเช่นนั้นเองตามประสาหญิงสาว

แต่ตัวเราไปหมายนัยน์ตาของเขาเอง "หลายวันเข้าจิตก็เกิดยินดีในสายตาของเขา" เวลาภาวนาเคยพิจารณากระดูกอกของข้าพเจ้าเองมองเห็นแจ่มชัด กำหนดลงไปทีไรก็เห็นกระดูกของเราชัดแจ้งอยู่ดังนั้น "แต่คราวนี้ภาวนาไปพิจารณากรรมฐานไปกลับมองไม่เห็นกระดูกอกของเรา เห็นแต่สายตาของสีกามาซึมซาบอยู่ในจิต" เห็นแต่ความงามของรูปร่างหน้าตาของเขาลอยวนเวียนแทนหมดจิตไม่สงบ พยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล "ภาวนาทีไรเห็นแต่ตาหวานของเขาทุกที จิตไปจดจ่ออยู่แต่สายตาลิด ๆ ของเขา"

เผอิญมีโยมผู้ชายสองคนขึ้นมาสนทนาด้วย คือ พ่อออกเล็กและพ่อออกนิล มาเล่าว่า "มีคนมาฆ่าช้างตายอยู่ไม่ไกลนัก" และเวลานี้เขากำลังเผาซากช้างนัน้ ข้าพเจ้าจึงถามว่า "มีกระดกูช้างเหลือบ้างไหม" เขาตอบว่า "มี" จึงบอกเขาว่าจะขอกระดูกขาช้างสักท่อนหนึ่ง "จะเอามาทำยาแก้โง่" เขาก็รับคำและลาไปเอากระดูกช้างมาให้ ที่ซึ่งช้างตายนั้นอยู่ไม่ไกลจากถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่

ดังนั้นประเดี๋ยวเดียว โยมก็แบกกระดูกขาช้างกลับมาท่อนหนึ่งยาวสักศอกหนึ่งได้ "ข้าพเจ้าจึงเอาฝ้ายมาฟั่นทำเป็นเชือกร้อยกระดูกขาช้างท่อนนั้น แล้วก็เอาขึ้นมาแขวนคอตนเองไว้" แขวนไว้ตลอดเวลา "เดินจงกรม ก็แขวนไว้ที่คอ นั่งภาวนาก็แขวนไว้ที่คอแขวนมันอยู่เช่นนั้น" ไม่ยอมถอดออก แล้วก็สอนตัวเองว่า "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง เอากระดูกมาแขวนคออย่างนี้แหละ" ถ้าเธอภาวนาไม่เห็นร่างกระดูก ไม่เห็นกระดูกในตนของตนแล้ว เราจะไม่ปลดไม่เปลื้องไม่แก้ออก ให้แขวนมันอยู่อย่างนี้ "รู้จักไหมกองกระดูก กระดูกภายนอก กระดูกภายใน" มันก็เหมือนกันเราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง

"ข้าพเจ้าเทศน์ให้มันฟัง มันอยากจิตไม่สงบ" มัวแต่ไปหมายสายตาของเขาอยู่อย่างนั้น และก็เกิดอุบายว่า "ธรรมดาถ้าควายตัวไหนมันดื้อมันด้านไปบุกรั้วเขา เข้าไปกินพืชผักในสวนของเขาไม่เชื่อฟังเจ้าของ เขาก็จะต้องแขวนไม้ไว้ทรมานมัน" อย่างนี้แหละ เธอก็เหมือนกันจิตมันดื้อมันด้าน "ไปหมายสายตาของเขาว่าดีว่าสวยอย่างนั้นอย่างนี้" เราจึงต้องเอากระดูกช้างมาแขวนคอ "แก้จิตดื้อด้านของตัวเองบ้าง" เดินจงกรมก็แขวนนั่งภาวนาก็แขวน แขวนมันอยู่อย่างนั้น เว้นเสียแต่นอน

"ถ้าเธอไม่แก้ไขตัวเองถ้าจิตเธอไม่สงบ ไม่ถอนจากสายตาของเขา เราเป็นไม่แก้ให้" ข้าพเจ้าให้โอวาททรมานมัน บางทีเวลาฉันหมาก บ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้าง กระดูกก็แดงเหมือนเลือด ข้าพเจ้าแขวนกระดูกช้างไว้เช่นนั้น "จนกระทั่งจิตสงบ ไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว จึงยอมถอดกระดูกนั้นออกจากคอ"

ระหว่างที่ยังคงเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมนั่งภาวนา วันหนึ่ง ท่านอาจารย์เพ็งมาเห็นข้าพเจ้าเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมภาวนา "ท่านก็หัวเราะก๊ากใหญ่เลย คงคิดว่าข้าพเจ้ามีสติวิปลาสไปแล้ว" พอรุ่งเช้าลงไปบิณฑบาต ท่านอาจารย์เพ็ง จึงไปกราบเรียนหลวงปู่ขาวที่จำพรรษาอยู่ตีนเขาภูเหล็กคือที่หวายสะนอย นั่นเองว่า "ครูบาจวนเอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนาและก็เคี้ยวหมากบ้วน้ำหมากลงรดกระดูกช้างเป็นสีแดงจ้า ครูบาจวนที่อย่างนั้นเห็นจะเป็นบ้าไปแล้ว วิปริตไปเสียแล้ว"

หลวงปู่ขาวได้ฟังดังนั้นจึงได้นิ่งพิจารณา และตอบว่า "ฮ้าย .. ไม่ใช่เป็นคนบ้า ไม่ใช่คนวิปริตหรอก อันนี้เป็นอุบายของท่านต่างหาก" ท่านคงมีเหตุจำเป็นจึงต้องใช้อุบายนี้ คนบ้าคงจะไม่ทำอย่างนี้ นี่เป็นอุบายสำหรับทรมานของท่านต่างหาก คงจะเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง "เราควรคอยรอฟังกันไปก่อนอย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านเป็นบ้าเลย"

ครั้นข้าพเจ้าจิตสงบเป็นปกติ "จิตจืดจางจากสายตาหวานของหญิงสาวผู้นั้น การภาวนาก็ดี จึงเอากระดูกช้างออกจากคอ" แล้ววันหนึ่งก็ไปกราบนมัสการท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านก็ทักและถามว่า "ท่านจวนทำไมจึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา" ข้าพเจ้ากเลยเรียนถวายท่านว่า "ขณะนั้น สีกาสาวที่บ้านโพนสวางเขามาส่งอาหารแทบทุกวัน เขามาส่งสายตาให้ ทำตาหวานใส่ หลายวันเข้าก็ไปหมายสายตาของเขาทำให้จิตใจไม่สงบ" ฉะนั้น "กระผมจึงหาอุบายเอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและภาวนาเพื่อทรมานมัน"

ตอนก่อนนั้นกระผมพิจารณากระดูกอกตัวเองได้ชัดเจน "พอมาคิดถึงสายตาของสีกาสาวเข้า ทำให้ไม่สามารถพิจารณากระดูกอกของตัวเองได้" จึงเอากระดกูช้าง ซึ่งเป็นกระดูกสัตว์เหมือนกันมาเป็นสักขีพยาน แขวนคอภายนอกเพื่อน้อมเอากระดูกที่แขวนคอนั้นเข้าไปสู่กระดูกอกที่แขวนคอภายในของตนว่า "กระดูกที่แขวนคออยู่ภายนอกและกระดูกที่แขวนคออยู่ภายในก็เป็นกระดูกสัตว์เหมือนกัน"

ทำไมท่านจึงไม่เห็น ถ้าท่านไม่เห็นเราก็ไม่แก้ออกให้ ท่านไปหมายเอาสายตาของเขา โบราณท่านว่า .. "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง กระดูกแขวนคอต่องแต่ง - ต่องแต่ง" .. อย่างนี้และกระผมก็ได้อุบายสอนตนอีกว่า "ธรรมดาควายตัวไหนมันห้าว" มันคะนองมันดื้อมันด้านมันไปบุกรุกทำลายเราอีกสวนของคนอื่นเขา "เขาต้องทรมานมันเอาไม้ยาว ๆ มาแขวนคอมันเพื่อให้มันละพยศอันร้าย" เมื่อมันละพยศอันร้ายแล้ว เขาจึงเอาไม้ออกจากคอมัน

หลวงปู่ขาวท่านก็เลยย้อนถามว่า "เมื่อท่านทำเช่นนี้แล้วเป็นอย่างไรได้ผลไหม สงบไหม" ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า "ได้ผลครับ ได้ผลดีหายเลย จิตสงบดีแล้วผมจึงปลดออกแก้ออกจากคอตนเอง" ท่านหัวเราะใหญ่และชมว่า "แหมอุบายอย่างนี้ชอบกลนัก" ดีมาก ผมยังคิดไมได้เลย เมื่อท่านเพ็งมาบอกผมว่าท่าน จวนเป็นบ้า จิตวิปริตเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา ผมก็ยังไม่เชื่อ "อุบายอย่างนี้แปลกประหลาดจริง ๆ" ดีนักได้ผลดี .. "

"อนายโล"
ผู้ไม่มีความอาลัย


 

5,625







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย