โลกุตรเหตุ โลกุตรผล : หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
คำสอนแต่ละบทละบาทเป็น "โลกุตตระ" ทั้งนั้น คำสอนของพระบรมศาสดา
นับแต่ศีล ๕ เป็นต้นไป ศีล ๕ เป็นโลกีย์หรือโลกุตระ
คำสอนของพระบรมศาสดาศีล ๕ เป็น "โลกุตรศีล"
ถ้าหากว่าปฏิบัติไม่ให้ด่างไม่ให้พร้อย
การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ไม่เอาศาสดาอื่นมาปะปนก็เป็น "โลกุตรศรัทธา"
ถือทั้งพุทธบ้าง ถือทั้งพราหมณ์บ้าง ถือทั้งผีบ้าง อะไรบ้าง
หลายบ้างเข้าก็เป็น "วิจิกิจฉา" เป็นลังเล..ยังไม่ถึง "โลกุตรเจตนา"
และยังไม่ถึง "โลกุตรศรัทธา" อีกด้วย เมื่อไม่ถึงโลกุตรศรัทธา
ก็ไม่ถึง"โลกุตรปัญญา" ก็ไม่ถึงโลกุตรศีลอยู่ในตัว
สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ชาวพุทธผู้หวังพ้นทุกข์ในวัฏสงสารจะพิจารณาทั้งนั้น
พระพุทธศาสนาย่นลงมาสั้น ถ้าเป็นเอกนิบาตก็ลงมาหา "ใจ"
เพราะใจเป็นต้นเหตุ ผู้รับผลของเหตุก็ใจเป็นผู้รับ
ผู้สร้างเหตุขึ้นก็คือใจเป็นผู้สร้าง เมื่อสร้างเหตุขึ้นแล้ว
ผลไม่ต้องประสงค์ก็ได้รับตามส่วนควรค่าของเหตุที่ทำดีและชั่ว
เมื่อจิตใจมีกามวิตกทีนี้..ความตริในทางกาม
ผลของใจก็นำมาให้ในเวลานั้นในกามวิตก
เมื่อจิตใจส่งเสริมพยาบาทวิตก
ผลของความพยาบาทก็มาหาจิตใจในเวลานั้น
เมื่อจิตใจส่งเสริมวิหิงสาวิตก
ผลของความเบียดเบียนก็มาหาใจในขณะนั้น
"อกาลิโก" ให้ผลไม่มีกาล ให้ผลไม่มีเวลา
จิตใจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นปัญหา
เดินไปก็เหมือนกันจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นปัญหา
เวลา "แดดส่อง" เงาก็ไปตามเงา ..ผลของเหตุตามไปยิ่งกว่าเงาอีกด้วย
เงาในที่มันมืดก็ไม่ค่อยจะเห็น เหตุฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงอาศัย "หลักของเหตุ"
เหตุปัจจะโย เหตุเป็นปัจจัยในมหาปัฏฐานอนันตนัย
ปัจจุบันนะเหตุ ปัจจุบันนะผล อตีตะเหตุ อตีตะผล อนาคตตะเหตุ อนาคตตะผล
ใครเป็นผู้สร้างขึ้น..ก็ "พญาจิตราช" คนเดียวเป็นผู้สร้างขึ้น
ตา หู จมูก ลิ้น กาย เขาไม่ได้แย่งสร้าง เพราะเขาอยู่ใต้อำนาจพญาจิตราช
ถ้าพญาจิตราชฉลาดก็ต้องพาเขาสร้างอันดีเพราะเราเป็นหัวจากเขา
...
พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต
วัดยรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร